(เพิ่มเติม) TTCL เผยได้งานใหม่ในอาบูดาบี 93.54 ลบ.ดัน backlog เป็น 1.1 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 2, 2010 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น (TTCL)เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งความจำนงค์เพื่อทำสัญญาโครงการนำความร้อนเหลือทิ้งมาผลิตไฟฟ้า เจ้าของโครงการ Abu Dhabi Oil Refining Company (TAKREER) มูลค่าโครงการ 3,110,682 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 93,538,000 บาท ซึ่งเป็นงานการออกแบบวิศวกรรม ที่ตั้งโครงการรัฐอาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระยะเวลาการออกแบบวิศวกรรม พฤศจิกายน 2553 - เมษายน 2554

นายสุวิทย์ มโนมัยยานนท์ กรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสฝ่ายขาย TTCL เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเพิ่งชนะการประมูลงาน ก่อสร้างโรงงานคาโปรแลคตัม เฟส 3 ให้กับ อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) ที่จังหวัด ระยอง มูลค่าประมาณ 643 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการบริษัท สามารถเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายนนี้

การชนะงานเพิ่มเติม 2 โครงการนี้ ทำให้ TTCL มีปริมาณงานคงค้าง(backlog)เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 11,000 ล้านบาท จากโครงการหลัก คือ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลที่เวียดนาม 2 โครงการ มูลค่า 4,000 ล้านบาท และโครงการสร้างโรงไฟฟ้านวนคร (NNE) มูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้บริษัทฯได้เข้าลงทุนด้วยการเข้าถือหุ้นบุริมสิทธิ์ประมาณ 60% ของทุนจดทะเบียน เมื่อแล้วเสร็จบริษัทฯจะมีรายได้จากเงินปันผลรับปีละ 120 ล้านบาทเป็นเวลา 25 ปี นับตั้งแต่ปี 56 ตั้งแต่ไตรมาส 4/55 เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับผลประกอบการของ TTCL ต่อไป

นอกจากนี้ทั้ง 2 โครงการนี้จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรของ TTCL อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากงานออกแบบวิศวกรรม เป็นงานที่มีอัตรากำไรขั้นสูงและความเสี่ยงต่ำมาก จึงคาดว่าอัตรากำไรสุทธิของบริษัทฯจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เพิ่มเป็น 8.83% ในไตรมาส 3/53จากอัตรากำไรสุทธิ 4.92% ในไตรมาส 2/53 และ 4.40% ในไตรมาส 1/53

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า TTCL ประสบความสำเร็จในการบุกเปิดตลาดตะวันออกกลาง โดยได้รับงานออกแบบวิศวกรรม เพื่อก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากความร้อนเหลือทิ้ง ให้กับ บริษัทโรงกลั่นน้ำมัน อาบูดาบี ในประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยการนำความร้อนเหลือทิ้งอุณหภูมิ 100-149 องศาเซลเซียสในโรงกลั่นน้ำมันรูไวส์(Ruwais) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่มาผลิตไฟฟ้าจำนวน 1.7 เมกะวัตต์ รวมถึงสามารถผลิตน้ำสะอาดปริมาณ 5,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โครงการวิศวกรรมลักษณะนี้เป็นงานวิศวกรรมขั้นสูง ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะด้านและความชำนาญสูง เหมาะสำหรับโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ เนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้โดยไม่สิ้นเปลือง เชื้อเพลิงเพิ่มเติม จึงสามารถลดค่าไฟฟ้า และประหยัดพลังงาน และลดสภาวะโลกร้อนด้วยการลด การปล่อยความร้อนเหลือทิ้งสู่ชั้นบรรยากาศ

“บริษัทฯคาดหวังว่าการชนะงานโครงการนี้ จะเป็นการเปิดตลาดตะวันออกกลางให้กับบริษัทฯอย่างเต็มตัว เนื่องจากเป็นตลาดที่มีมูลค่าอนาคตการขยายตัวอย่างมาก และเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของโลก จึงมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมโรงแยกแก๊ส และ ปิโตรเคมีต่อไปได้อีกมาก"นายสุวิทย์ กล่าว

บริษัทฯมีประสบการณ์รับงานต่างประเทศมากว่า 13 ปี ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในเขต เอเชียและเวียดนามซึ่งมีบริษัทโตโย- เวียดนามเป็นบริษัทฯในเครือ ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าจะได้พันธมิตรใหม่มาร่วมทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายงานในต่างประเทศ และน่าจะได้ข้อสรุปภายในเร็วๆนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ