(เพิ่มเติม) UAC คาด ม.ค.54 เซ็นซื้อขายก๊าซชีวภาพกับ PTT,ปี 55 คาดรายได้แตะพันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 29, 2010 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติ ชีวะเกตุ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์(UAC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บมจ.ปตท. (PTT) และ UAC ได้ดำเนินการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติอัดมีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงทั้ง 2 ฝ่ายได้ไม่เกินเดือน ม.ค.54 หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะนำข้อตกลงผ่านกระบวนการอนุมัติเพื่อลงนามสัญญาต่อไป

สำหรับโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง(CBG)ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบโรงงาน โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 6-8 ตัน/วัน หรือมีกำลังการผลิตสูงถึง 2,160 ตัน/ปี วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตจะมาจากวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการแปรรูปทางการเกษตร และปศุสัตว์ เช่น มูลสุกร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ และสามารถส่งก๊าซชีวภาพอัดฯให้กับ ปตท.ได้ตั้งแต่ ม.ค.55 เป็นต้นไป

"เรามีโอกาสทำโครงการก๊าซชีวภาพร่วมกับ ปตท. เรามองไว้แล้ว อีก 3 โครงการ อยู่ในจ.เชียงใหม่และจังหวัดอื่น ซึ่งห่างจากเส้นท่อก๊าซ" นายกิตติ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานทั้งปี 53 บริษัทคาดว่าจะรายได้เติบโตเกินเป้าที่วางไว้ 743 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากธุรกิจนำเข้า และจำหน่ายสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท บางจากไบโอฟูเอล(BBF) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP)อย่างต่อเนื่อง

นายกิตติ คาดว่าในปี 54 รายได้และกำไรของบริษัทจะเติบโต 14% จากปี 53 และตั้งเป้าในปี 55 รายได้แตะระดับ 1 พันล้านบาท โดยในปีหน้าจะมีสินค้าใหม่เพิ่มเข้ามา 2 ชนิด ได้แก่ ระบบกรองอากาศที่ใช้ในโรงไฟฟ้า และสินค้าดาวน์สตรีมที่เป็นเม็ดพลาสติก

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนโครงการผลิตก๊าซชีวภาพแห่งที่ 2 ซึ่งโครงการมีมูลค่า 100 ล้านบาท ขนาดการผลิต 6-8 ตัน/วัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/54 ซึ่งยังเจรจาสัดส่วนการเข้าร่วมทุนอยู่ และจะขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซลที่ร่วมทุนกับ BCP เพิ่มอีก 20% จากกำลังการผลิตทั้งหมด 3 แสนลิตร/วันคาดจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท

ในปี 54 UAC ตั้งงบลงทุน 200 ล้านบาท แบ่งใช้ในโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง(CBG) ในเชียงใหม่ 150 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้ลงทุนโครงการแห่งที่ 2

ด้านนายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า สาเหตุที่ ปตท.ตัดสินใจเลือก UAC เป็นพันธมิตร เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการนี้ อีกทั้งโครงการดังกล่าว เป็นการพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงาน และช่วยในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติอัด โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการเซ็นสัญญาระยะยาว 15 ปี และรับซื้อก๊าซทั้งหมดที่ UAC ผลิตได้

“ก๊าซ CBG มีคุณสมบัติโดดเด่น เมื่อเทียบกับก๊าซอื่นๆ และถือเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่ง ตามนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการให้คนไทยหันมาใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ“นายวิชัย กล่าว

นอกจากนี้ การรับซื้อก๊าซชีวภาพอัด ช่วยลดต้นทุนได้บางส่วนแม้จะไม่มาก โดยก่อนนี้บริษัทได้เซ็นสัญญาซื้อก๊าซชีวภาพจาก อุบลราชธานีก๊าซ ที่ จ.อุบลราชธานี โดยจะนำแป้งมันสำปะหลังนำมาผลิต ได้ประมาณ 6-8 ตัน/วัน คาดว่าจะผลิตได้ก.ค. 55

ขณะเดียวกัน ปตท.ได้ศึกษาเห็นว่าพื้นที่สามารถทำโรงงานก๊าซซีวภาพได้มี 35 พื้นที่ โดย 19 แห่ง จะได้จากแป้งมันสำปะหลัง, 12 ราย จะผลิตจากน้ำมันปาล์ม และ 4 แห่งทำจากเอทานอล ซึ่งกระจายไปทั้งทางภาคเหนือ อีสาน และใต้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งในสถานีที่ห่างไกลจากสถานีบริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ