ADVANC เป้าปี 54รายได้บริการไม่รวม IC โต 4%,ลงทุน 1 หมื่นลบ.พัฒนา2G-3G

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 11, 2011 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ระบุในรายงานมุมมองของผู้บริหารต่อแนวโน้มและกลยุทธ์ในปี 54 ว่า บริษัทคาดว่ารายได้จากค่าบริการไม่รวม IC จะเติบโต 4% จากปี 53 โดยมองว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเติบโต 4% สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติ(จีดีพี) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง 3.5% ถึง 4.5%

แรงผลักดันในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลดลงในลดลงในสภาวะการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมปัจจุบันไม่รุนแรงนักจึงคาดว่ารายได้จากการให้บริการเสียงจะทรงตัวจากปีที่แล้ว ขณะที่กำลังหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยังคงมาจากรายได้จากบริการด้านข้อมูลที่คาดว่าจะเติบโตถึง 25-30%

สำหรับจำนวนเลขหมายที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้มีสัดส่วนมากกว่า 100% ของจำนวนประชากรไทย โดยคาดว่าในปีนี้ทั้งตลาดจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 2-3 ล้านเลขหมาย เนื่องจากความนิยมพกพาเครื่องมือสื่อสารมากกว่าหนึ่งเครื่องสอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้ซิมสำหรับใช้งานด้านข้อมูลโดยเฉพาะที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าบริการสื่อสารไร้สายระหว่างอุปกรณ์ (machine to machine) ได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าองค์กร รวมถึงยังมีการเติบโตของผู้ใช้งานในแถบต่างจังหวัดอีกด้วย สำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เป็นธุรกิจสำคัญในการสนับสนุนการให้บริการด้านข้อมูล ซึ่งแม้จะมีรายได้จะเติบโตสูงเป็นตัวเลขสองหลัก แต่อัตรากำไรจากการขายมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ความหลากหลายของอุปกรณ์สื่อสารด้านข้อมูลประกอบกับราคาสมาร์ทโฟนที่ลดลงที่มีแนวโน้มปรับตัวลงจะผลักดันให้ยอดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ เพิ่มขึ้น โดยประมาณการว่าตลาดสมาร์ทโฟนในปี 54 จะมียอดขายถึง 2 ล้านเครื่อง

บริการข้อมูลที่คาดว่าจะเติบโตในช่วง 25-30% ปัจจัยหลายประการได้ผลักดันให้ผู้บริโภคมีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อผ่านสายยังมีอยู่อย่างจำกัดอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ มีแบบและรุ่นให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ประกอบกับที่ราคามีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ผู้ผลิตยังนำเสนอสมาร์ทโฟนหลายรุ่นที่มีราคาย่อมเยา รวมถึงเครือข่ายทางสังคมที่ขยายตัวมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในปี 54 เอไอเอสยังคงมุ่งความสนใจไปที่บริการด้านข้อมูล โดยนำเสนอแนวทาง “Quality DNAs" (Device,Network, Application, and services) เพื่อพัฒนาคุณภาพในทุกมิติของการให้บริการ บริษัทนำ เสนออุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยในหลากหลายระบบปฎิบัติการ พร้อมแพ็คเกจการใช้งานที่คุ้มค่า ให้แก่ ลูกค้าทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพด้านโครงข่ายโดยลงทุนในโครงข่าย 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA บนคลื่น 900MHz ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดยในเบื้องต้นจะเปิดให้บริการในกรุงเทพฯและจังหวัดหลักในแต่ละภูมิภาค ด้วยงบประมาณ 2,500 ล้านบาท

นอกจากนี้เอไอเอสยังร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นชั้นนำบนระบบปฏิบัติการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แอนดรอยด์ แบล็คเบอร์รี่และ iOS ของ Apple รวมถึงพัฒนาคอนเทนต์ในประเทศซึ่งมุ่งเน้นเพื่อตอบโจทย์แนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของลูกค้าเช่น คลิปข่าว ไลฟ์สไตล์ เพื่อกระตุ้นการใช้บริการด้านข้อมูล นอกจากนี้ยังยกระดับคุณภาพบริการด้วย “Certified Smart Phone Expert" ที่พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน CallCenter และสำนักงานบริการทั่วประเทศ

เอไอเอสจะลงทุนในเครือข่ายทั้ง 2G และ 3G ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของบริการข้อมูล จากปี 53 ใช้เงินลงทุนในโครงข่ายต่ำกว่าระดับปกติเพียง 5,200 ล้านบาท โดยเงินลงทุนในปีนี้ 7,500 ล้านบาทจะใช้พัฒนาและขยายขีดจำกัดของบริการด้านข้อมูลบนระบบ 2G นอกจากนี้อีก 2,500 ล้านบาทจะใช้ขยายโครงข่าย 3G บนคลื่น 900MHz ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองอื่น ๆ เป็น 1,884 สถานีฐาน ภายในไตรมาสที่ 3/2554 จาก 131 สถานีฐานในปัจจุบัน

ในปี 54 บริษัทคาดว่า EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 45%โดยลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ 46.8% เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงาน (opex) ของบริษัทเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสุทธิลดลง ประกอบกับ การขยายตัวของธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ ขณะที่การเปิดตัวเทคโนโลยี 3G และการทำโปรโมชั่นทางการตลาดควบคู่กับการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายทางการตลาดอยู่ในระดับ 2.5% ถึง 3% ของรายได้รวม ขณะที่บริษัทได้ปรับประมาณการรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสุทธิลงจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 300 ถึง 400 ล้านบาท

บริษัทยังคาดว่าจะมีสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เพิ่มขึ้นเนื่องจากความนิยมใช้สมาร์ทโฟนได้ขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งโดยปกติธุรกิจดังกล่าวมีอัตรากำไร (margin) ต่ำกว่าธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนั้น สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ EBITDA margin โดยรวมของกลุ่มบริษัทลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ