โบรกเกอร์หนุน"ซื้อ,ซื้อเก็งกำไร"หุ้น บมจ.ธนาคารทหารไทย(TMB)จากแนวโน้มธุรกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยปี 54 คาดการณ์ว่าธนาคารยังทำกำไรไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อจะขยายตัวได้ราว 5-6% แม้ปี 53 มีการปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากปีนี้ธนาคารจะเร่งดำเนินธุรกิจเชิงรุก
การที่มีกลุ่มไอเอ็นจี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังหนุนการเติบโตต่อเนื่องของธนาคาร และหลังจากธนาคารได้มีการล้างขาดทุนสะสม และปรับโครงสร้างเพื่อให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เชื่อว่าธนาคารจะมีการจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกจากผลประกอบการงวดปี 53 ที่ 0.02 บาท/หุ้น
ส่วนการขายหุ้น TMB ในส่วนที่กระทรวงการคลังถืออยู่ยังเป็นประเด็นหนุนการเคลื่อนไหวของราคาได้ โดยเฉพาะล่าสุดมีข่าวว่าธนาคารไอซีบีซีจากจีนแสดงความสนในจะเข้ามาซื้อหุ้น เป็นประเด็นหนุนให้เก็งกำไรได้ตามข่าว แม้เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.กรุงศรีฯ ซื้อเก็งกำไร 1.96 บล.เกียรตินาคิน ซื้อ 2.50 บล.เอเซียพลัส ซื้อ 2.60 บล.บัวหลวง ซื้อเก็งกำไร 2.40 บล.ยูไนเต็ด ซื้อเก็งกำไร 2.31
นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของ TMB คาดอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.3% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,200 ล้านบาท โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ที่ 6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่สินเชื่อเติบโตเพียง 4.2% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 10% ขณะที่ NIM คาดว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.3%
อย่างไรก็ตาม จากกระแสข่าวเรื่องการหาพันธมิตรมาซื้อหุ้น TMB ในส่วนที่กระทรวงการคลังถืออยู่ มองในเชิงการลงทุนสามารถเข้าซื้อเก็งกำไรได้ตามข่าว แต่โดยพื้นฐานแล้ว แม้ปีนี้ธนาคารจะมีสินเชื่อเติบโตขึ้น และยังมีความสามารถการทำกำไรได้ดี แต่ถือราคาแพงแล้ว หากมองจาก ROE ที่คาดว่าปีนี้อยู่ที่ 8% จาก ROE เฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ 11.7% และP/E 23 เท่า จากเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ 10 เท่า
“แม้ธนาคารจะมีการเติบโตที่ดีในการทำกำไรสูง แต่ยังถือเป็นการทำกำไรที่อ่อนแอ เพราะโตจากฐานที่ต่ำอยู่แล้ว และมาจากการปรับปรุงโครงสร้าง ดังนั้นหากมองพื้นฐานคงต้องใช้เวลาพิสูจน์จริงอีกหลายปี เพื่อให้ ROE ลดลงเหลือยู่เท่าเฉลี่ยของกลุ่ม หรือทำกำไรเติบโตต่อเนื่องในระดับ 20-30%" นายธนัท กล่าว
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน แนะ“ซื้อ"เนื่องจาก TMB มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน มีกำไรติดต่อกันหลายไตรมาส และอาจจะมีการจ่ายปันผลเป็นครั้งแรก จากผลการดำเนินงานในปี 53 ที่หุ้นละ 0.02 บาท
ขณะที่ปี 54 มองว่า ธนาคารยังสามารถทำกำไรเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 4,300 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตถึง 35% จากปี 53 ที่มีกำไร 3,200 ล้านบาท โดย NPL คาดว่าน่าจะมีการขายออกอีกเพื่อลดภาระหนี้เสีย ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในปีนี้ น่าจะเติบโตที่ 5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 53 แต่ยังต่ำกว่าการปล่อยสินเชื่อในระบบที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 7-8%
“เรายังมองว่าธนาคารยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากการพลิกฟื้นธุรกิจ และการแข่งขันยังสามารถทำกำไรได้ดี แม้จะสู้แบงก์ใหญ่ไม่ได้ แต่ธนาคารก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และยังมองว่าน่าจะจ่ายปันผลได้ครั้งแรก หุ้นละ 2 สตางค์" นักวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน กล่าว
ส่วนข่าวการขายหุ้น TMB ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ให้ธนาคารไอซีบีซี(ไทย)(ICBCT)แม้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่มองว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากภายหลังที่ ICBC ได้เข้าซื้อหุ้นของ ACL และได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น ICBCT นั้น ยังมีขนาดสินทรัพย์ที่ค่อนข้างเล็ก ดังนั้น หาก ICBCT จะเพิ่มขนาดสินทรัพย์และขนาดธุรกิจได้อย่างรวดเร็วนั้น จำเป็นที่จะต้องซื้อกิจการธนาคารพาณิชย์อื่น และควบรวมเข้ากับ ICBCT เท่านั้น
หาก ICBC เข้าซื้อหุ้นของ TMB จริง และควบรวม ICBCT เข้ากับ TMB จะทำให้ขนาดสินทรัพย์ของ ICBCT เพิ่มขึ้นเป็น 6.6 แสนล้านบาท และขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 7 ทันที
บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส มองภาพรวมธุรกิจของ TMB ในปี 54 จะเติบโตในเชิงรุกมากขึ้น โดยทิศทางตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตเกิน 10% แม้ในปี 53 จะปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จากการลดลงของ NPL และธนาคารฯ เน้นการปรับคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ที่มีอายุการกู้ยืมนานและสินเชื่อ SME บางส่วน ซึ่งล้วนให้ผลตอบแทนสูง ส่งผลให้มียอดการ refinance ออกไปจากธนาคารฯกว่า 23,000ล้านบาท จึงส่งผลให้สินเชื่อสุทธิทั้งปี 53 แสดงยอดลดลง 1.3%
ส่วนปี 54 คาดหมายว่าจะมีการปรับคุณภาพพอร์ตอย่างต่อเนื่องและอาจทำให้สินเชื่อลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่ายังบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ โดยธนาคารฯ จะเน้นกลุ่มสินเชื่อ SME เป็นหลัก และทำให้ NIM เพิ่มขึ้นราว 20-30bp สู่ระดับ 2.40-2.50% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม ประเมินการเติบโตถึง 20% ส่วนหนึ่งจากการที่ธนาคารฯ มีเป้าหมายจะเพิ่มสินเชื่อ Trade financing เชิงรุก แม้จะให้ผลตอบแทนต่ำ แต่จะได้ค่าธรรมเนียมฯ กลับเข้ามามาก
ทิศทางธุรกิจของ TMB ภายใต้ทีมผู้บริหารและโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปัจจุบัน ที่กลุ่ม ING ถือหุ้นอยู่ 25.20% ซึ่งสามารถพัฒนาธุรกิจและคุณภาพสินทรัพย์ของ TMB ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันสามารถล้าง ผลขาดทุนสะสมไปได้ทั้งหมด และพร้อมที่จะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ในปี 54 โดยคาดแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิปี 54 ยังเป็นไปในเชิงรุกต่อเนื่องพร้อมกับความมีเสถียรภาพมากขึ้น คาด EPS เติบโตถึง 14.4%