โบรกเกอร์ส่วนใหญ่หนุน"ซื้อ"บมจ.ทุนธนชาต(TCAP) แม้ปีนี้การทำกำไรจะยังไม่โดดเด่น เนื่องจากยังเป็นปีของการควบรวมกิจการของธนาคารธนชาต(TBANK)กับธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) ทำให้ยังมีค่าใช้จ่ายสูง และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ จึงอาจกระทบต่อการทำกำไรในปีนี้
แต่ธนาคารจะได้รับผลดีจากการควบรวมกิจการที่จะทำให้ต้นทุนทางการเงินที่ลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และยังสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น จากเดิมที่ฐานสินเชื่อจะเป็นสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก แต่หลังควบรวมกิจการพอร์ตสินเชื่อจะมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และสินเชื่อบ้าน
อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นปีนี้ที่จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากจากการควบรวมกิจการแล้ว ในปี 55 ทิศทางการทำกำไรของธนาคารจะเติบโตดีขึ้น โดยค่าใช้จ่ายจากการควบรวมกิจการจะลดลง โดยกระบวนการควบรวมกิจการและเชื่อมธุรกิจทั้งหมดจะแล้วเสร็จทั้งหมด ภายใน มี.ค.55
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.กรุงศรีฯ ซื้อเก็งกำไร 38.75 บล.ยูไนเต็ด ซื้อ 39.30 บล.กิมเอ็ง ซื้อเมื่ออ่อนตัว 38.00 บล.ฟิลลิป ซื้อ 42.40 บล.เกียรตินาคิน ซื้อ 42.50 บล.ฟาร์อีสท์ ซื้อ 42.00 บล.บัวหลวง ซื้อเก็งกำไร 37.00
นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปี 54 TCAP ยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมากที่เป็นผลจากการควบรวมกิจการ ระหว่าง TBANK และ SCIB โดยปีนี้คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงถึง 33,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% และยังมีค่าใช้จ่ายจากการสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อการทำกำไร TCAP ซึ่งปีนี้คาดว่า TCAP จะมีกำไร ประมาณ 5,560 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5%
“ปีนี้จะเป็นปีของการควบรวมกิจการที่แท้จริง ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ทั้งการลงทุนเปลี่ยนป้ายโลโก้เป็น ธนชาต การลงทุนวางระบบการทำธุรกรรมต่างๆ ทำให้ปีนี้มีการลงทุนค่อนข้างมาก" นายธนัท กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากปีนี้ไปแล้วในระยะต่อไปผลจากการควบรวมกิจการจะเป็นผลดีทั้งในแง่การแข่งขันและการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เดิมโครงสร้างของ TCAP จะเน้นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ และมีข้อเสียเปรียบในการระดมทุนของธนาคารขนาดเล็ก แต่หลังควบรวมกิจการแล้วโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อจะมีลูกค้ารายใหญ่ สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัย มากขึ้น ซึ่ง SCIB มีพอร์ตสินเชื่อลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างมากและมีความพร้อมทั้งในส่วนของพนักงานและระบบต่างๆ ดังนั้น ในปี 55 น่าจะเห็นการเติบโตที่ดีขึ้น โดยคาดว่า TCAP จะมีกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 6,160 ล้านบาท คิดเป็นเติบโต 10.9%
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ปี 54 กำไรสุทธิของ TCAP จะยังได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการที่ยังมีอยู่และมีการตั้งสำรองสูง โดยคาดว่าต้องตั้งสำรองอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท จึงคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 5,258 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.8%
อย่างไรก็ตาม จากการควบรวมกิจการทำให้ต้นทุนเงินฝากของ TCAP และมีฐานสินเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมจะเน้นสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งจะมีผลกระทบในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น โดยปีนี้ TCAP ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเติบโต 7.5% นอกจากนี้ จะได้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาที่มากขึ้น ดังนั้น ยังแนะนำ“ซื้อ"แต่ปรับราคาเหมาะสมอยู่ที่ 42.50 บาท มี Upside gian อยู่ 29.8%
บทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป มองว่า การขยายตัวของ TCAP ในปี 54 ยังไม่โดดเด่นเนื่องจากอยู่ระหว่างการควบรวมกิจการที่จะแล้วเสร็จสิ้นสุดในเดือนพ.ย.54 จึงว่าว่าจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ และเห็นการตั้งสำรอง อยู่ในระดับสูง โดยค่าใช้ จ่ายยังจะมีเข้ามาต่อเนื่องในปี 55 ก่อนเห็นการก้าวกระโดดของกำไรหลังจากนั้น
ทั้งนี้ ผู้บริหารคาดเป้าสินเชื่อของ TBANK ปี 54 โต 8-10% โดยมีสัดส่วน Corporate 26.2%, SME 18.0% และ Retail 55.8% Focus ของปีจะอยู่ที่สินเชื่อรถแลกเงิน และ บัตรเครดิตซึ่งมี Margin ดี รายได้ค่าธรรมเนียมคาดขยายตัวจาก Banking Fee ของ SCIB และการ Cross Sell ผลิตภัณฑ์ของ TBANK ด้านสำรองคาดสูงขึ้นเช่นกันจากปัจจุบันที่ 35 bps ของ สินเชื่อรวมCost/Income จะสูงขึ้นจากค่าใช้จ่าย Integration จากการลงทุนด้าน IT, สาขา, Training, ค่าที่ปรึกษา, ค่าใช้จ่ายการตลาด ROE จะอยู่ที่ 12-12.5%
ทิศทางการดำเนินธุรกิจหลังรวมกับ SCIB คือ Customer Centricity, Universal Banking และ Synergy ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจจะครบวงจรทำให้สามารถ ให้บริการลูกค้าได้อย่างหลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ทางฝ่ายปรับประมาณการกำไรของ TCAP ปี 54 ลดลง 5.6% เพื่อสะท้อนเรื่องค่าใช้จ่ายและตั้งสำรอง ราคาพื้นฐานจะอยู่ที่ 42.40 บาท/หุ้นอิงกับ P/BV ที่ 1.4 เท่า (ROE=13.5%) แนะนำ "ซื้อ" จาก Upside ที่ยังเกิน 15%