นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) เปิดเผยว่า การเข้าซื้อทรัพย์สินโรงงานถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้า Teesside Cast Products “TCP" ของ บริษัท ได้บรรลุผลอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเวลา 18.00 น.(เวลาประเทศอังกฤษ)ของวันที่ 24 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดย บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (สหราชอาณาจักร) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้จัดให้มีพิธีส่งมอบทรัพย์สินในเช้าตรู่วันที่ 25 มีนาคม ท่ามกลางบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้คนในชุมชน Teesside ซึ่งผูกพันลึกซึ้งกับอุตสาหกรรมและ สื่อมวลชนร่วมเฉลิมฉลอง และร่วมแสดงความยินดีมากมาย
ความสำเร็จในการเข้าซื้อสินทรัพย์นี้เกิดขึ้นได้ เพราะความรักความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น ที่มีต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และความช่วยเหลือที่ดียิ่งจากรัฐบาลอังกฤษ นับแต่นี้ต่อไปสินทรัพย์ดังกล่าวจะดำเนินการ โดยบริษัทย่อยของเอสเอสไอ คือ SSI UK ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งช่วงระหว่างเจรจาซื้อขายได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าและดำเนินการได้ทันทีหลังการส่งมอบทั้งในส่วนของกิจกรรมยืดอายุเตาถลุง กิจกรรมเพื่อรองรับการกลับมาผลิตใหม่ กิจกรรมงานซ่อมบำรุง และงานซ่อมบำรุงประจำปี
"เป้าหมายของบริษัท จะเร่งกลับมาดำเนินการผลิตเหล็กแท่งแบนที่มีคุณภาพสูงสุดอย่างเต็มรูปแบบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน หรือเดือนตุลาคมนี้ โรงถลุงเหล็กแห่งนี้จะเริ่มผลิตน้ำเหล็กได้ ดังนั้น เอสเอสไอยูเคจึงต้องรับสมัครพนักงานเหล่านี้ทำงาน และเร่งสรรหาบรรจุพนักงานเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าการจ้างงานที่อังกฤษจะเกิดขึ้นสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 800 อัตรา เพิ่มขึ้นจากพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน 700 กว่าคนในโรงงานถลุงเหล็ก TCP" นายสิน กล่าว
Mr. Phil Dryden กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (สหราชอาณาจักร) จำกัด (เอสเอสไอยูเค) กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการหารือกับผู้บริหารคนไทยอย่างใกล้ชิดในการกำหนดกรอบกลยุทธที่มีความชัดเจน เหมาะสม สำหรับการดำเนินการให้โรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าที่ทันสมัยระดับโลกแห่งนี้กลับมาผลิตให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่บริษัททั้งที่ประเทศไทยและอังกฤษ เมื่อเห็นผู้คนที่ Teesside มาร่วมเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอันเป็นหัวใจของเมืองนี้ผมยิ่งต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อนึ่ง การซื้อโรงงานถลุงเหล็กดังกล่าว จะทำให้ยอดขายของ SSI เพิ่มขึ้น 56% ภายใน 3 ปี ช่วยลดต้นทุนการผลิต 590 ล้านบาท/ปี (170 บาท/ตัน) ประหยัดต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบ 790 ล้านบาท/ปี ลดภาระดอกเบี้ย 120 ล้านบาท/ปี จากการสำรองวัตถุดิบลดลง และมีกำไรจากส่วนต่างของราคาขายที่เพิ่มขึ้น 1,640 ล้านบาท/ปี ในผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ในสร้างความมั่งคงทางด้านเหล็ก โดยเฉพาะปริมาณสำรองเหล็กในประเทศซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ลดปัญหาการขาดดุลเหล็กให้กับประเทศปีละ4 แสนล้านบาท ลดความผันผวนต้นทุนโครงการพัฒนาต่างๆที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ และผลกำไรถูกส่งกลับมาเป็นรายได้ของประเทศอีกด้วย