นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย(KTB)เปิดเผยว่า จากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ในภาคใต้นั้น ธนาคารมีความห่วงใยลูกค้าและประชาชนที่ประสบภัย จึงได้ออก 7 มาตรการ เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อน เช่นเดียวกับโครงการเงินกู้สู้อุทกภัยในปี 2553
มาตรการแรก ได้แก่ เงินกู้กรุงไทยสู้อุทกภัย โดยจะให้วงเงินกู้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายเพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการ ในปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1%ต่อปี หลังจากนั้นคิด MLR ผ่อนชำระนานถึง 5 ปี สามารถใช้หลักประกันเดิม
สำหรับมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย เงินทุนหมุนเวียนกรุงไทยสู้อุทกภัย ให้เงินกู้เป็นทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์กู้เพิ่ม ธนาคารให้พักชำระเงินต้นนาน 6 เดือน
สินเชื่อที่อยู่อาศัยกรุงไทยสู้อุทกภัยภาคใต้ ธนาคารให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมกับลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเต็มตามจำนวนเงินที่ได้ผ่อนชำระกับธนาคาร โดยไม่ตรวจสอบประวัติทางการเงิน ไม่ต้องประเมินราคาหลักทรัพย์ รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการนำนิติกรรมจำนอง คิดดอกเบี้ยร้อยละ MRR-1.75% ต่อปีในปีแรก หลังจากนั้นคิด MRR-0.50% ต่อปี ผ่อนชำระสูงสุดนานถึง 60 งวด
มาตรการต่อไป คือ กรุงไทยจับคู่ธุรกิจสู้อุทกภัย โดยจัด Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายกับผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรอุปกรณ์ผู้รับเหมา เพื่อให้สามารถปรับปรุงซ่อมแซมกิจการในราคาพิเศษ สินเชื่อเพื่อพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการฟื้นฟูหลังอุทกภัย ดอกเบี้ย 6 เดือนแรก 3% ต่อปี หลังจากนั้นคิดอัตราเงินฝากประจำ 6 เดือนบวก 1.25% ต่อปี โดยปลอดเงินต้น 6 เดือน
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย ทั้งการโอนเงินเพื่อบริจาค และโอนเงินเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และได้กำชับให้หน่วยงานอำนวยสินเชื่อ ดูแลและพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างรวดเร็ว
นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารยังได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจัดโครงการรวมใจช่วยภัยน้ำท่วม โดยเปิดบัญชีรับบริจาค พร้อมทั้งได้จัดทำถุงยังชีพจำนวน 12,000 ชุด มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท นำไปช่วยเหลือผู้ประภัยในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช