นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า การที่บริษัทได้รับจ้างในสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของระบบการจัดการของเสีย และการออกแบบการก่อสร้างระบบบำบัด โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 7-8 เดือน หลังจากนั้นทางผู้ว่าจ้างจะพิจารณาในเรื่องการก่อสร้างต่อไป
เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าโครงการอยู่ที่ 400 ล้านบาท โดยพิจารณาจากโมเดลบริการกำจัดขยะให้กับเทศบาล จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการกำจัดขยะแบบครบวงจร แต่ที่การกำจัดขยะของโครงการโรงไฟฟ้าหงสาจะครอบคลุมขยะจากโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินด้วย
"หากการศึกษาแล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปีหน้า...โครงการนี้ถือเป็นโครงการแรกที่เราออกไปต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน หลังจากที่เราเคยศึกษาแล้วที่พม่า และคาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานจุดแรก เพราะธุรกิจนี้หาคนทำได้ยาก รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน และเรามีความเชี่ยวชาญมายาวน่า น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ" นายสุวัฒน์ กล่าว
ส่วนการกำจัดขยะที่ประเทศพม่า ขณะนี้ยังเจรจากันแต่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องการเมืองภายในประเทศพม่า และข้อตกลงเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาให้บริการธุรกิจกำจัดขยะในประเทศเพื่อนบ้านอีก 1 แห่ง
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มรายได้และกำไรสุทธิไตรมาส 2/54 มองว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/54 เนื่องจากปริมาณการกำจัดขยะมีเพิ่มขึ้น และบริษัทมีการปรับราคาค่าบริการตั้งแต่ต้นปีปรับขึ้นไปแล้ว 10% และทั้งปีคาดว่าจะปรับราคา 15% ตามต้นทุนที่เพิ่มขึน
อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 54 บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้และกำไรสุทธิเติบโต 20% แต่จะมีการทบทวนเป้าหมายดังกล่าวอีกครั้งหลังจากผลประกอบการไตรมาส 2/54 ออกมาแล้วเนื่องจากแนวโน้มปริมาณขยะปีนี้คาดว่าจะมีมากขึ้นจากปีก่อน 20% เนื่องจากลูกค้ามีการเพิ่มกำลังการผลิตตามออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น รวมถึงคู่แข่งทางธุรกิจกำจัดขยะยังมีน้อย
"เราจะมีการทบทวนเป้าหมายรายได้ปีนี้อีกครั้งหลังผลประกอบการไตรมาส 2 ซึ่งจากแนวโน้มไตรมาส 1 ก็เติบโต 30% แล้ว และไตรมาส 2 ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง และเรายังมีการปรับขึ้นราคาค่าบริการอีก" นายสุวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับจังหวัดหัวเมืองใหญ่ 2-3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อดำเนินธุรกิจกำจัดขยะแบบครบวงจร โดยใช้โมเดลจากเทศบาลโคราช ซึ่งเป็นการกำจัดขยะแบบครบวงจรที่ดีสุด โดยข้อสรุปต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารแต่ละจังหวัด