THLแจงไม่สำรองหนี้บ.ย่อย"เหตุประเมินมูลค่าไม่ได้-มีคดีฟ้องร้องเจ้าหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 13, 2011 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ทุ่งคาฮาเบอร์ (THL) แจ้งว่า ตามที่บริษัทได้นำส่งงบการเงินรวมของบริษัทฯและบริษัทย่อย สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2553 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรายงานของผู้สอบบัญชี นางญัฐสรัคร์ สโรชนันท์จีน แห่งสำนักงาน เอ.เอ็ม.ที แอสโซซิเอท ได้แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมของบริษัทฯและบริษัทย่อยว่า งบการเงินดังกล่าวไม่ได้แสดงฐานะการเงินรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ผลการดำเนินการรวมและงบกระแสเงินสดรวม สำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกันของ THL และบริษัทย่อย และเฉพาะ THL โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

ทั้งนี้ เหตุผลที่ผู้สอบบัญชีได้ให้ไว้เป็นประการสำคัญในกรณีนี้ก็คือ การที่เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ THL)ได้บอกเลิกสัญญาส่งออกทองคำ (Export Contract) ล่วงหน้า ตามจดหมายของเจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศดังกล่าวลงวันที่ 7 และวันที่ 11 ธันวาคม 2553 ในจดหมายดังกล่าว เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศได้เรียกร้องค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาล่วงหน้าเป็นจำนวน 27,601,366 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 836.22 ล้านบาท) จากกรณีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (บริษัทย่อย) ผิดสัญญาดังกล่าว

ผู้สอบบัญชียังได้ระบุว่า THL และบริษัทย่อย มิได้บันทึกตั้งสำรองค่าเสียหายดังกล่าวในงบการเงินสิ้นสุด 2553 และผู้สอบบัญชีเห็นว่า THL และบริษัทย่อย จะต้องบันทึกตั้งสำรองค่าเสียหายดังกล่าวทั้งจำนวน มิฉะนั้นงบการเงินดังกล่าวจะไม่ได้แสดงฐานะของ THL และบริษัทย่อยโดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

บริษัทย่อยของ THL รวมทั้งบริษัทเองได้เข้าทำสัญญาเงินกู้ (และสัญญาประกอบ) กับเจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศตั้งแต่ปี 2550 อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกหลายประการระหว่างปี 2551-2553 ทำให้บริษัทย่อยไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดตามสัญญาดังกล่าวที่มีต่อเจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศได้ ในเดือนกรกฎาคม 2553 เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศได้ยื่นข้อเสนอให้แก่บริษัทย่อยและ THL เพื่อปรับโครงสร้างสัญญา โดยให้พักการชำระเงินต้นและส่งมอบทองเป็นเวลา 4 เดือน

ผลการเจรจาเบื้องต้นระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปเป็นเงื่อนไขทางการธุรกิจ (Commercial Terms Sheet)ที่ผู้บริหาร THL และคณะเจรจาได้นำเสนอต่อคณะกรรมการของ THL เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการของ THL ได้มีมติไม่ขัดข้องในเงื่อนไขธุรกิจที่นำเสนอดังกล่าว แต่มีข้อแม้ว่าเงื่อนไขต่างๆดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายไทย รวมทั้งกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ด้วยมติดังกล่าวผู้บริหารและคณะผู้เจรจาของ THL ได้ใช้ความรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการเจรจาในขั้นต่อมา แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเป็นที่พอใจของคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายส่งผลให้เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศยื่นหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งออกทองคำเป็นการล่วงหน้าในเวลาต่อมา ผู้บริหารของ THL มีความเห็นว่าไม่ควรบันทึกการตั้งสำรองค่าเสียหายที่เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศเรียกร้องมาจากการบอกเลิกสัญญาส่งออกทองคำ

เนื่องจากเชื่อว่ากระบวนการที่นำโดยเจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศเพื่อการเจรจาปรับโครงสร้างสัญญาเงินกู้และสัญญาส่งออกทองคำระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน 2553 มิได้เป็นไปตามประกาศธปท.ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ขณะที่ ที่ปรึกษากฎหมายอิสระของ THL ได้ให้ความเห็นว่า สัญญาส่งออกทองคำฉบับดั้งเดิม และร่างสัญญาปรับโครงสร้างการส่งออกทองคำอาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายไทยและมาตราในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในปัจจุบัน เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทย่อยและ THL ต่อ London High Courtof Justice และ นำข้อขัดแย้งเรื่องการส่งออกทองคำขึ้นสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของ London Court of International Arbitration. THL และบริษัทย่อยได้แต่งตั้งสำนักงานทนายความเพื่อเป็นตัวแทนในการพิจารณาคดีต่างๆดังกล่าวแล้วทั้งนี้ยังมีความไม่แน่ชัดถึงผลการตัดสินของศาลและอนุญาโตตุลาการจะเป็นไปในทางใด

ที่ปรึกษากฎหมายภายนอกได้ให้ความเห็นต่อบริษัทว่าในกรณีที่อนุญาโตตุลาการที่ประเทศอังกฤษมีคำชี้ขาดให้บริษัทย่อยชำระหนี้ค่าเสียหายให้แค่เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศ เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศจะต้องนำคำชี้ขาดดังกล่าวมาร้องต่อศาลไทยเพื่อขอบังคับตามคำชี้ขาดต่อไป อย่างไรก็ตาม ศาลไทยอาจตัดสินไปในทิศทางที่เหมือนหรือแตกต่างจากคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการได้

จากเหตุผลต่างๆที่กล่าวมานี้ รวมถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเจรจาประนีประนอม ผู้บริหารของ THL มีความเห็นว่า ค่าเสียหายที่เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศเรียกร้องมายังมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง และเห็นว่าไม่ควรนำค่าเสียหายที่เจ้าหนี้ธนาคารต่างประเทศดังกล่าวเรียกร้องมาบันทึกตั้งสำรองในงบการเงิน ของ THL และบริษัท

สำหรับความเห็นคณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาการบันทึกตั้งสำรองมูลค่าการบอกเลิกสัญญาส่งออกหรือมูลค่าความเสียหาย ที่ทางธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี เรียกให้ชำระ ตามแม่บทการบัญชี (ปรับปรุง 2552) ข้อที่ 32 ซึ่งกล่าวว่า "ข้อมูลอาจมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจแต่การบันทึกข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิด เนื่องจากข้อมูลขาดความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น ประมาณการค่าเสียหายจากการถูกฟ้องร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอาจขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากจำนวนค่าเสียหาย และผลการพิจารณาคดียังไม่เป็นที่แน่นอน ดังนั้นอาจเป็นการไม่เหมาะสมที่กิจการจะรับรู้ค่าเสียหายดังกล่าวในงบดุล แต่กิจการต้องเปิดเผยจำนวนค่าเสียหายที่มีการเรียกร้องและเหตุการณ์เกี่ยวกับการฟ้องร้องดังกล่าว"

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ามูลค่าการบอกเลิกสัญญาส่งออกหรือมูลค่าความเสียหาย ที่ทางธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี เรียกให้ชำระตามหนังสือยกเลิกสัญญา เป็นจำนวนที่ยังไม่แน่ชัดเนื่องจาก ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี ได้นำเรื่องกรณีข้องขัดแย้งระหว่างธนาคารกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตามสัญญาส่งออกทองคำ ขึ้นสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ London Court of International Arbitration (LCIA)ณ ขณะนี้ผลการพิจารณาคดีจากอนุญาโตตุลาการยังไม่เป็นที่แน่นอน

ประเด็นกฎหมายอื่น ๆ เช่น การบังคับตามคำพิพากษาของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศและการมีผลบังคับใช้ของสัญญาส่งออกทองคำและสัญญาเงินกู้ภายใต้กฎหมายแห่งประเทศไทย เป็นต้น การกำหนดมูลค่าความเสียหาย ที่ทางธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี เรียกร้องให้ชำระ มีความไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นการคำนวณโดยใช้ปัจจัยอ้างอิงสภาวะตลาดขณะใดขณะหนึ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ นายวิชัย เชิดชีวศาสตร์ และ นายปราโมทย์ บันสิทธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบได้ส่งหนังสือร้องเรียนปัญหาการประกอบธุรกิจของสถาบันทางการเงินในเรื่องการทำสัญญาส่งออกและสัญญาเงินกู้กับธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยและขณะนี้เรื่องอยู่ในการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้นายปราโมทย์ บันสิทธิ์ ยังได้มีความเห็นส่วนตัวที่จะให้บริษัทฯ หรือผู้ถือหุ้นดำเนินการฟ้องร้อง ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอ จี ต่อศาลในประเทศไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ข้อพิจารณาตามแม่บทการบัญชี (ปรับปรุง 2552) ข้อที่ 32 คณะกรรมการตรวจสอบยังได้พิจารณากรณีนี้ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 53 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นฉบับที่ 37)ว่าด้วยการรับรู้รายการ การประมาณการหนี้สิน อีกด้วย โดยเห็นว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัดไม่สามารถรับรู้ประมาณการมูลค่าบอกเลิกสัญญาส่งออกเป็นหนี้สินในงบดุลได้เนื่องจากมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อที่ 3.3 (สามารถประมาณมูลค่าภาระผูกพันได้อย่างน่าเชื่อถือ) ตามที่ระบุไว้ในข้อที่ 3 ของมาตรฐานบัญชีฉบับดังกล่าว

ดังนั้นแล้วกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ THL เลือกที่จะไม่บันทึกมูลค่าการบอกเลิกสัญญาส่งออกเป็นหนี้สิน และต้องเปิดเผยข้อมูลประมาณการผลกระทบทางการเงินข้อมูลความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนหรือจังหวะเวลาของการสูญเสียประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและข้อมูลความน่าจะเป็นที่จะได้รับรายจ่ายคืน ให้ครบถ้วนตามข้อ 25 ของมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 53(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นฉบับที่ 37)

นอกเหนือไปจากกรณีดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้น การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯยังคงดำเนินการไปตามปกติ และบริษัทฯยังมีสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินงานอยู่ เนื่องจากบริษัทฯยังมีเงินสดรับสุทธิจากธุรกิจเหมืองแร่ทองคำของบริษัทย่อยที่ดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ