ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้-คงเครดิตองค์กร HEMRAJ ที่ "A+" แนวโน้ม "Stalbe"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 20, 2011 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทของ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปลงทุนขยายธุรกิจตามแผน

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับและรายได้ประจำจากบริการสาธารณูปโภคที่เติบโตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมถึงธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท

ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต่อไปได้ ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและลดความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่บริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ในนโยบายที่ 50% ได้ต่อไปแม้ในขณะที่มีการดำเนินการตามแผนขยายธุรกิจ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า HEMRAJ เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 ณ เดือนมีนาคม 2554 กลุ่มตระกูลหอรุ่งเรืองถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.0% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นอกจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรูในใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ซึ่งรวมถึงคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 60%-70% ของรายได้รวม ยกเว้นในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่วนรายได้ที่เหลือ 30%-40% เป็นรายได้ประจำซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าโรงงาน

HEMRAJ เป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 31,350 ไร่ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 443 ราย ซึ่ง 36% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 11% เป็นลูกค้าในกลุ่มปิโตรเคมี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีพื้นที่เหลือขาย 7,736 ไร่ โดยประมาณ 44% อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (H-ESIE) ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ของบริษัทได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนนโยบายทางบัญชี ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2554 สภาวิชาชีพบัญชีได้เปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นการรับรู้รายได้เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิมที่เคยรับรู้ตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง การเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ดังกล่าวส่งผลทำให้รายได้ของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ลดลงถึง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหลือเพียง 1,427 ล้านบาท กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก็ปรับตัวลดลง 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 382 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทยังคงสูงถึง 769 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 จากการขยายกำลังการผลิตของลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นสำคัญ การมียอดขายที่ดินในระดับที่ดีในช่วงครึ่งแรกของปีทำให้คาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

รายได้ประจำของบริษัทยังคงแข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2554 รายได้จากการขายสาธารณูปโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 68% ของรายได้ประจำในปี 2553 เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 842 ล้านบาท ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตคือความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจและผลจากการรวมงบการเงินกับ บริษัท เหมราช สระบุรี ที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท เหมราช ระยอง ที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจโรงงานให้เช่าก็เติบโตเช่นกัน โดยพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น 21,069 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เทียบกับพื้นที่เช่าที่เพิ่มขึ้น 17,231 ตร.ม. ตลอดปี 2553 รายได้ค่าเช่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เติบโตถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนของบริษัททรงตัวอยู่ที่ 46.0% ณ เดือนมิถุนายน 2554 เทียบกับ 46.6% ณ เดือนธันวาคม 2553 ในอนาคตคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนลงทุนจำนวนมาก โดยจะใช้งบลงทุนปีละ 4,000-6,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2554-2555 แผนการลงทุนดังกล่าวรวมการลงทุนใน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด (GHECO-One) ตลอดจนการขยายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการสาธารณูปโภค รวมถึงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) แม้ว่าภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่บริษัทก็ได้กำหนดแผนการชำระคืนหนี้ที่มีการกระจายตัวดี โดยบริษัทมีกำหนดการชำระคืนเงินกู้จำนวน 350-850 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2554-2555 โดยใช้เงินทุนจากการดำเนินงานที่บริษัททำได้ปีละ 700-900 ล้านบาท

นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 บริษัทยังมีเงินสดในมือจำนวน 2,500 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 2,000 ล้านบาทด้วย ส่วนแผนการชำระคืนหนี้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2556 นั้นจะใช้เงินปันผลที่ได้จาก GHECO-One ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ที่บริษัทถือหุ้น 35% ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์และจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทได้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป

แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในประชาคมยุโรป และญี่ปุ่นว่าอาจทำให้ผู้ประกอบการชะลอแผนการขยายกำลังการผลิตออกไปบ้าง อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะบรรเทาลงจากแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยหลังจากเกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 โดยประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ถือว่าอยู่ในทำเลที่ดีและมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยังได้ประกาศโครงการประชานิยมหลายโครงการ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่สำคัญคือการคืนภาษีไม่เกิน 100,000 บาทให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก โดยผู้มีสิทธิ์ได้รับภาษีคืนจากโครงการดังกล่าวได้แก่ผู้ซื้อรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถกระบะซึ่งมีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท และเป็นการซื้อในช่วงระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยผลักดันความต้องการใช้รถยนต์ในระยะสั้นและจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวในตลาดส่งออกรถยนต์ได้บางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ