สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งให้ บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ (THL) แก้ไขงบการเงินงวดไตรมาส 3 ปี 2553 และงบการเงินประจำปี 2553 โดย THL จะต้องบันทึกค่าชดเชยจากส่วนต่างของราคาทองคำในงบการเงินงวดไตรมาส 3 ปี 2553 และบันทึกประมาณการค่าเสียหายที่คู่สัญญาเรียกร้องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาส่งมอบทองคำในงบการเงินประจำปี 2553 โดย THL จะต้องนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไขที่ผ่านการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้วต่อ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเปิดเผยงบการเงินดังกล่าวต่อสาธารณชนภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2554
สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. พบว่า ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นและแสดงความเห็นว่างบการเงินของ THLทั้งสองงวดไม่ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และ ก.ล.ต. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ตลอดจนคำชี้แจงและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของ THL แล้วเห็นว่า การบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินงวดดังกล่าวไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีดังนี้
1. ค่าชดเชยจากส่วนต่างของราคาทองคำ บริษัทย่อยของ THL รายบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารต่างประเทศ จำนวน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับทำสัญญาส่งมอบทองคำ ซึ่งกำหนดให้ทุ่งคำต้องส่งมอบทองคำให้ธนาคารต่างประเทศในจำนวนและราคาที่กำหนด หากไม่สามารถส่งมอบทองคำได้ตามจำนวนที่กำหนด THL จะต้องจ่ายค่าชดเชยจากส่วนต่างของราคาตลาดทองคำกับราคาตามสัญญา โดยในงวดไตรมาส 3 ปี 2553 THL ชี้แจงว่า ธนาคารต่างประเทศได้ผ่อนผันให้มีการพักการชำระหนี้และการส่งมอบทองคำชั่วคราว เพื่อเจรจาปรับปรุงเงื่อนไขในสัญญา THL จึงไม่ได้บันทึกค่าชดเชยจากส่วนต่างของราคาทองคำเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินในงบการเงิน
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า THL ต้องบันทึกค่าชดเชยดังกล่าวตามเงื่อนไขและข้อตกลงของสัญญาส่งมอบทองคำในงบการเงินงวดไตรมาส 3 ปี 2553 ให้ครบถ้วน แม้ในช่วงเวลาดังกล่าว THL จะได้รับการผ่อนผันจากธนาคารต่างประเทศให้พักการส่งมอบทองคำเป็นการชั่วคราว แต่ถือเป็นเพียงการเลื่อนเวลาการส่งมอบทองคำออกไปเท่านั้น THL ยังคงมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งมอบทองคำตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาหรือจ่ายค่าชดเชยในส่วนที่ส่งมอบทองคำไม่ครบถ้วน
ค่าเสียหายที่คู่สัญญาเรียกร้องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาส่งมอบทองคำ ในเดือนธันวาคม 2553 ธนาคารต่างประเทศได้แจ้งเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาเงินกู้ยืมและสัญญาส่งมอบทองคำและเรียกร้องให้ทุ่งคำชำระคืนหนี้และดอกเบี้ย รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาส่งมอบทองคำก่อนกำหนด จำนวน 836 ล้านบาท โดย THL ไม่บันทึกค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินในงบการเงินประจำปี 2553 ผู้สอบบัญชีของ THL จึงแสดงความเห็นว่า งบการเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า THL ต้องประมาณการค่าเสียหายที่เกิดจากการยกเลิกสัญญาส่งมอบทองคำก่อนกำหนด และบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินในงบการเงินประจำปี 2553 เนื่องจากกรณีนี้ถือเป็นเรื่องของการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจนเป็นเหตุให้คู่สัญญาแจ้งเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญา พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายตามเงื่อนไขที่กำหนด จึงถือได้ว่า THL มีภาระผูกพันตามสัญญาที่จะต้องชำระค่าเสียหายดังกล่าว ส่วนการที่ THL ชี้แจงว่า สัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย และขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเทศอังกฤษนั้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมายที่ชัดเจน ตามหลักการบัญชี THL จึงต้องบันทึกหนี้สินตามข้อกำหนดของสัญญาที่ THL และธนาคารต่างประเทศตกลงกันไว้ในงบการเงินประจำปี 2553