บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว ความสำเร็จของกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติ ความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจยางธรรมชาติ และความเข้มแข็งของสถานะทางการเงิน ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อ่อนแอลง
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้ทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงของวงจรธุรกิจ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะรักษาสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอเพื่อรับมือกับความผันผวนของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก
ทริสเรทติ้งรายงานว่า STA เป็นผู้นำในการแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในประเทศไทย โดยมีโรงงานแปรรูป 20 แห่งในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและอีก 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย ณ เดือนมิถุนายน 2554 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 987,555 ตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลก
สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 9.25% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7.85% ในปี 2553 ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนาน รวมทั้งการมีข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านทั้งในส่วนของอุปสงค์และอุปทานยางธรรมชาติทำให้ผู้บริหารสามารถบริหารกิจการของบริษัทผ่านวงจรธุรกิจทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงโดยยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมียอดจำหน่ายยางแปรรูปทั้งสิ้น 485,664 ตัน เพิ่มขึ้น 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 84% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรง
แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมยางล้อเป็นส่วนใหญ่ แต่บริษัทก็มีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายและกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ผลิตยางล้อขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย บริษัทมียอดส่งออกคิดเป็น 83.4% ของปริมาณขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 โดยมีลูกค้าหลักคือประเทศจีนซึ่งคิดเป็น 30.9% ของปริมาณยอดส่งออกทั้งหมด
ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 75% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 2.53 ล้านตันในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 0.91 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (0.72 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.27 ล้านตัน) ประมาณ 70% ของยางธรรมชาติใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางล้อ ที่เหลือ 30% ใช้ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และรองเท้า การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 2554 อยู่ที่ 2.57 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นประมาณถึง 95-98% ของต้นทุนการแปรรูป ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติเป็นอย่างมากซึ่งส่งผลทำให้กำไรและกระแสเงินสดมีแนวโน้มแปรปรวน เพื่อที่จะลดความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจึงปรับเปลี่ยนนโยบายทางการตลาดโดยใช้กลยุทธ์การซื้อขายแบบ Back-to-Back และพยายามซื้อขายโดยตรงกับผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกร กระนั้นก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านราคาในช่วงที่ราคายางมีความผันผวนในระดับสูงไปได้
STA รายงานผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งรายได้และกำไรอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ซึ่งเป็นผลมาจากราคายางธรรมชาติและยอดส่งมอบสินค้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยในปี 2553 ของบริษัทอยู่ที่ 97.7 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 66% จากปี 2552 ราคายังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 145.7 บาท/กิโลกรัมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและอุปทานยางธรรมชาติที่ลดลงจากสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ในด้านของปริมาณการขาย บริษัทมียอดส่งมอบเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 485,664 ตันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของการบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลก
บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นก่อนค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.79% ในปี 2553 และ 4.06% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 และมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,709 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนทั้ง ๆ ที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นและได้รับเงินปันผลที่ลดลงจากบริษัทย่อย โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นโดยลำดับ โดยส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 10,415 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2553 มาอยู่ที่ 19,071 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2554 จากความสำเร็จในการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม 2554 และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็ปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงมาอยู่ที่ 51.99% ณ เดือนมิถุนายน 2554 จาก 69.12% ณ เดือนธันวาคม 2553
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยซึ่งส่งผลทำให้มีการปิดโรงงานประกอบรถยนต์หลายแห่งอาจทำให้ความต้องการยางธรรมชาติลดลงในระยะสั้นถึงปานกลาง ถึงแม้ปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อพื้นที่ปลูกยางและโรงงานแปรรูปยางธรรมชาติเนื่องจากพื้นที่ปลูกยางและโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของประเทศ แต่การปิดโรงงานประกอบรถยนต์และภาคการค้าที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลทำให้การส่งมอบยางธรรมชาติในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ชะลอตัวลง ในส่วนของอุปทานยางธรรมชาตินั้น ฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่อาจส่งผลทำให้ปริมาณยางธรรมชาติจากประเทศไทยลดลงในไตรมาสดังกล่าวเช่นกัน