นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมมือกับเครือบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ บมจ.ปตท (PTT) และ บริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด ช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารในเครือข่ายซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากน้ำท่วม ภายใต้โครงการ “คืนพลังซัพพลายเชน" (Supply Chain Revitalizing Program) ซึ่งจัดเตรียมวงเงินเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีเปลี่ยนวงเงินโอดีคงค้างเป็นเงินกู้ระยะเวลา 18 เดือน โดยให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้นาน 6 เดือน และผ่อนชำระคืนในระยะเวลา 12 เดือนที่เหลือ โดยวงเงินโอดีเดิมที่ใช้ซื้อสินค้าสามารถกลับไปใช้ได้เต็มจำนวนวงเงิน พร้อมให้การสนับสนุนได้ในทันที
ระยะแรกจะมอบให้แก่เอสเอ็มอี ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าของ เครือบริษัทบุญรอด เอสเอ็มอีที่เป็นผู้ประกอบการปั้มน้ำมันของ บมจ.ปตท. (PTT) และร้านค้าผู้แทนจำหน่ายของ บริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือได้ทันทีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาให้วงเงินเพิ่มเติมเป็นกรณีๆไป ซึ่งเป็นรูปแบบความช่วยเหลือทางการเงินที่เสริมจากมาตรการช่วยเหลืออื่นๆของธนาคารที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้
ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้สามารถกระจายความช่วยเหลือได้เร็วขึ้น ช่วยหนุนให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกว่ารูปแบบเดิมๆที่เคยทำมา ทั้งนี้องค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ในซัพพลายเชนรู้ถึงการดำเนินงาน ยอดซื้อขายสินค้าและความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายของทั้งระบบเนื่องจากมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน การร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้ ทำให้ธนาคารสามารถมองเห็นภาพความต้องการความช่วยเหลือของทั้งซัพพลายเชนได้อย่างชัดเจน และหากภาครัฐมีการออกนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในโอกาสต่อไป ทางทีเอ็มบีก็จะยังคงดำเนินมาตรการ “คืนพลังซัพพลายเชน" นี้ต่อไปโดยนำแนวทางของนโยบายรัฐมาใช้เป็นส่วนเพิ่มให้กับเอสเอ็มอี
นายบุญทักษ์ กล่าวอีกว่า ภัยน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆเป็นวงกว้าง ธนาคารจึงเดินหน้าเตรียมมาตรการช่วยเหลือซัพพลายเชนอื่นๆ อีก เพื่อให้ทั่วถึงทั้งธุรกิจที่ถูกกระทบโดยตรงและโดยอ้อม โดยในขณะนี้องค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ของแต่ละเครือข่ายอุตสาหกรรมก็มีความต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือคู่ค้าของตนเอง ทั้งที่เป็นผู้ขายและผู้ซื้อ ให้ก้าวผ่านวิกฤติและสามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินกิจการได้ต่อไปโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับทีเอ็มบีที่มีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในเครือข่ายซัพพลายเชนทั้งด้านเงินทุนและการดำเนินงาน