ตลท.ให้ NPK กลับเข้าซื้อขายในตลาด mai 29 ธ.ค.54, ไซเลนท์พีเรียด 1 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 20, 2011 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ให้ บมจ. นิวพลัสนิตติ้ง(NPK) พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนและให้หลักทรัพย์ของบริษัทซื้อ ขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554 เป็นต้นไป และอนุญาตให้หลักทรัพย์ของ NPK เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554 เป็นต้นไป

สืบเนื่องจากบริษัทได้เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2548 เพราะบริษัทมีส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ โดยงบการเงินของบริษัทงวดปี 2547 มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 40.32 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากในปี 2546 บริษัทมียอดขายลดลงร้อยละ 32.55 ซึ่งเกิดจากในปี 2546 มีสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาแข่งขันโดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดล่าง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอัตราการขายสูงมีผลให้ บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 52.51 ล้านบาท และมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับเงินให้กู้ยืมในบริษัทนิวพลัส (89) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมในขณะนั้นจำนวน 10.30 ลบ.เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการบัญชีในเรื่องเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทร่วมและรายได้ค้างรับจากบริษัทร่วม

ในปี 2546 บริษัทตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเท่ากับอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ค้างรับจากบริษัทร่วมและอัตราร้อยละ 25 ของเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทร่วม รวมทั้งในปี 2547 บริษัทมีการตั้งสำรองสินค้าเสื่อมสภาพ 31.30 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัทฯไม่มีการตั้งสำรองสินค้าเสื่อมสภาพมาก่อนจึงมีการตั้งสำรองสินค้าเสื่อมสภาพเพื่อให้เป็น ไปตามนโยบายการบัญชีในเรื่อง การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือและค่าเผื่อสินค้าเสื่อมสภาพ โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีนโยบายการตั้งค่าเผื่อสินค้าเสื่อมสภาพโดยพิจารณาจากสินค้าที่ไม่เคลื่อนไหวมากกว่า 2 ปี และจากความเห็นของฝ่ายบริหารของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นผลให้ในปี 2547 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 79.25 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ฟื้นฟูกิจการมาโดยตลอดเพื่อให้บริษัทมีผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่มั่นคง โดยได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ ทั้งการลดพื้นที่การใช้งานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน การบริหารสินค้าคงคลังเพื่อให้มีวัตถุดิบเพื่อใช้ในขบวนการผลิตเพียงพอในระยะเวลาสั้นลงไม่ให้มีจำนวนคงเหลือมากเกินไปและมีการบริหารจัดการวัตถุดิบในขบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดของเสียจากการผลิตการพัฒนาสินค้าใหม่ๆและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

นอกจากนี้บริษัทย่อยได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินจำนวน 1 แห่ง เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 โดยบริษัทย่อยได้ปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และมีการชำระหนี้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น

และจากการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของบริษัทตามที่ได้กล่าวข้างต้น ทำให้บริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานพ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนแล้วและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยื่นขอให้พิจารณาให้หลักทรัพย์ของบริษัทพ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนและอนุญาตให้หลักทรัพย์ของบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยขอชี้แจงการมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดดังนี้

1. การมีส่วนของผู้ถือหุ้น (ภายหลังการปรับปรุงความเห็นผู้สอบบัญชี) ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 80.64 ล้านบาทและ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 121.03 ล้านบาท

2. การมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติที่เกิดจากธุรกิจหลักซึ่งจะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต ภายใต้การจัดการของผู้บริหารส่วนใหญ่กลุ่มเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยพิจารณาจากงบการเงินประจำปี หรืองบการเงิน 4 ไตรมาสที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้ว โดยมีกำไรสุทธิและกำไรสุทธิในงวดสะสมก่อนยื่นคำขอบตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา บริษัทเริ่มมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติที่เกิดจากธุรกิจหลัก และผลการดำเนินงานของบริษัทมีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2553 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 60.89 ล้านบาท สำหรับในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 งวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 40.32 ล้านบาท

3. บริษัทปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่าร้อยละ 75 ของมูลหนี้ทั้งหมดของบริษัท โดยบริษัทสามารถจ่ายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้ตามกำหนดเวลาและแผนปรับโครงสร้างหนี้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัทย่อยได้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินรวม 1 แห่ง มูลหนี้รวม 153.85 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 โดยบริษัท นิวพลัสอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยซึ่งบริษัทถือหุ้น 98.75% ได้ปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และมีการชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เจ้าหนี้ได้ขยายเวลาการชำระหนี้จากเดิมสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2561 มีผลให้จำนวนเงินต้นที่บริษัทย่อยต้องชำระคืนในแต่ละเดือนลดลง

นอกจากนี้เจ้าหนี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่เคยเรียกเก็บในอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป ( ณ. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 MLR เท่ากับร้อยละ 7.50 ต่อปี) เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายจากเดิมที่เคยเรียกเก็บ

4. บริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่มั่นคงตามสภาพธุรกิจของบริษัทไปอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณากระแสเงินสดของกิจการประกอบด้วย จากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทย่อยตามที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องชำระคืนลดลง รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมาทั้งการลดค่าใช้จ่ายเพื่อลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารสินค้าคงคลัง รวมทั้งการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีฐานะการเงินที่มั่นคง

ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 2/2554 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 24.82% และ 19.47% ตามลำดับ และมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราสภาพคล่อง (Current Ratio) เพิ่มจาก 0.68 เท่าในปี 2551 เป็น 2.36 เท่าในไตรมาส 2/2554 รวมทั้งมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2554 จำนวน 25.27 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ