นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)เปิดเผยว่า SCC ลงนามในข้อตกลงการร่วมทุน (Joint Venture Agreement)กับผู้ร่วมทุนจากประเทศกาตาร์และประเทศเวียดนามในธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของประเทศเวียดนามมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนในปี 2556
การลงนามในข้อตกลงร่วมทุนดังกล่าวเป็นผลคืบหน้าจากการลงนามในกรอบความตกลง (Framework Agreement) ซึ่ง SCC ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 และการลงนามในข้อตกลงการลงทุนเมื่อเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา ภายหลังจากการลงนามในข้อตกลงร่วมทุน และสรุปข้อตกลงด้านการเงินของโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปีก็จะสามารถเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ได้
การร่วมทุนในธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในประเทศเวียดนามในโครงการนี้นับเป็นการบุกเบิกอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศเวียดนาม ดังนั้นจึงเป็นโครงการที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตในภูมิภาคอาเซียนของประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้ SCC จะถือหุ้นในโครงการดังกล่าวร้อยละ 28 จากเดิมร้อยละ 53 ในขณะที่ บมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์(TPC) ถือหุ้นร้อยละ 18 และพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญได้แก่ QPI Vietnam (บริษัทย่อยของบริษัท QatarPetroleum International) Vietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam) และ Vietnam National Chemical Corporation (Vinachem)
นอกจากการลงนามในข้อตกลงการร่วมทุนดังกล่าวแล้ว Qatar International Petroleum Marketing Comp. Ltd. (TASWEEQ) Q.J.S.C. ซึ่งเป็นบริษัทด้านการตลาดของประเทศกาตาร์ ได้ลงนามในข้อตกลงในการจัดหาวัตถุดิบหลัก ได้แก่ โพรเพน (Propane) และ แนฟทา (Naphtha) ในระยะยาวให้แก่โครงการ
ในขณะที่ PV GAS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PetroVietnam ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding)ในการจัดหาก๊าซอีเทน (Ethane) ให้แก่โครงการด้วยเช่นกัน ซึ่งการมีวัตถุดิบหลักอย่างเพียงพอในระยะยาวนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของโครงการนอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจรและการได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale)
โครงการผลิตปิโตรเคมีครบวงจรดังกล่าว ประกอบด้วย โรงงานผลิตโอเลฟินส์ขนาดกำลังการผลิต 1.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นที่ออกแบบให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบหลักได้หลากหลายประเภท(Ethane, Propane และ Naphtha) รวมไปถึงโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย ได้แก่ Vinyl Chloride Monomer (VCM), Polyethylene (PE) และ Polypropylene (PP) ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศเวียดนาม เพื่อรองรับความต้องการของประชากรประมาณ 90 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีบริการพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็น เช่น คลังวัตถุดิบและสินค้า ท่าเรือ โรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ อย่างครบครันอีกด้วย
โครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและทันสมัย มีมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระดับสากล ผลิตภัณฑ์ของโครงการจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศเวียดนามและอาเซียน
โรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่ที่เกาะ Long Son ในจังหวัด Ba Ria - Vung Tau ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม โดยจะอยู่ติดกับโครงการโรงกลั่นน้ำมันในอนาคตของประเทศเวียดนามซึ่งจะทำให้มีประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน และอยู่ใกล้กับตลาดเวียดนามทางตอนใต้ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญ (เพียง 100 กิโลเมตรจาก โฮจิมินห์ซิตี้)
นอกจากนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญของเวียดนามหลายประเภท เช่น บรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค และท่อพีวีซี (PVC Pipe) วัสดุขึ้นโครงทำกรอบในการก่อสร้าง (Profile) ผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิค และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเจริญเติบโต