BAFS เข้าซื้อหนี้-หุ้นบุริมสิทธิใน FPT เพื่อลดความเสี่ยง-สร้างมูลค่าเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 10, 2012 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ(BAFS) เปิดเผยว่า บริษัทและบริษัทย่อย (กลุ่มบริษัท)ได้ดำเนินการซื้อหนี้ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) จากกลุ่มเจ้าหนี้ของ FPTจากกลุ่มสถาบันการเงินเป็นจำนวนยอดภาระหนี้คงเหลือประมาณ 1,717 ล้านบาท ในราคาประมาณ 738 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนลดเฉลี่ยร้อยละ 57 ของยอดภาระหนี้คงเหลือ

นอกจากนี้ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 กลุ่มบริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้นบุริมสิทธิของ FPT จำนวน 5,147,314 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 32.33 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 0.10 บาท ทำให้ปัจจุบันกลุ่มบริษัท มีสัดส่วนการถือหุ้นใน FPT จากจำนวนร้อยละ 16.67 เป็นจำนวนร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 บริษัทในฐานะเจ้าหนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้ฟื้นฟูกิจการของ FPT ซึ่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ FPT และตั้งบริษัท เทรเชอร์ สเปเชี่ยลตี้ จำกัด เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (1) ลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัท และมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ (2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทอย่างยั่งยืน โดยบริษัทคาดว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ FPT จะเสร็จสิ้นในปลายปี 2555 ซึ่งจะทำให้ FPT กลับมาเป็นกิจการที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง สามารถสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทต่อไป

อนึ่ง การดำเนินการเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริษัท เมื่อ 11 พฤษภาคม 2554 มีมติอนุมัติในหลักการที่จะลงทุนเพิ่มในบFPT ซึ่งบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นอยู่เดิมในสัดส่วนร้อยละ 16.67 โดยอนุมัติให้บริษัทหรือบริษัทย่อย (กลุ่มบริษัท) ซื้อหนี้ของ FPT ในวงเงินไม่เกิน 850 ล้านบาท และหุ้นบุริมสิทธิในราคาหุ้นละไม่เกิน 0.10 บาท จากกลุ่มสถาบันการเงิน

เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า FPT เป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว แม้ว่าในปัจจุบัน FPT มีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมากจากการลอยตัวของค่าเงินบาทในปี 2540 ก็ตาม แต่เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อซึ่งถือเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องและมีความสำคัญกับการให้บริการอากาศยานของบริษัททั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

คณะกรรมการบริษัทจึงอนุมัติให้เข้าลงทุนใน FPT เพิ่มเติม โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นผู้พิจารณารายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ และให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการภายใต้กรอบรายละเอียดและเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ