ทริสฯให้เครดิตองค์กร "KTZ" ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 6, 2012 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กร บล.เคที ซีมิโก้ (KTZ) ที่ระดับ “BBB+" โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารทุนและตราสารอนุพันธ์ ตลอดจนการมีบริษัทในเครือที่เปิดดำเนินกิจการในประเทศลาวและเวียดนาม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนจากหนึ่งในสองผู้ร่วมลงทุนหลักซึ่งถือหุ้น 50% ในบริษัท คือธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งมีเครือข่ายสาขาอยู่ทั่วประเทศรวมถึงความสัมพันธ์ที่ธนาคารมีกับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อันเป็นช่องทางที่เอื้อประโยชน์ต่อการขยายธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและตลาดหุ้นไทยที่ยังมีความผันผวนอยู่มาก อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบที่กำลังเริ่มต้นในปี 2555 นี้ ทั้งนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดและยอดสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์จำนวนค่อนข้างสูงก็มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทยต่อไป และจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้ ตลอดจนสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจได้โดยอาศัยคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเครือข่ายในภูมิภาค นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่าบริษัทจะมีระบบจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอในการควบคุมความเสี่ยงในธุรกิจการลงทุนในด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทและในธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ รวมถึงในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล.เคที ซีมิโก้ ในปี 2554 ลดลงมาอยู่ที่ 4.2% (อันดับ 11) จาก 4.6% ในปี 2553 (อันดับ 6) จากการมียอดซื้อขายผ่านบริษัทที่ลดลงของลูกค้ารายใหญ่หลายราย อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถรักษาอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าเฉลี่ยให้อยู่ที่ 0.20% ในช่วงปี 2553 และครึ่งแรกของปี 2554 เอาไว้ได้ ในส่วนของธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ 3.7 % ในปี 2554 จาก 4.2% ในปี 2553

บล.เคที ซีมิโก้ อาศัยสาขาของธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้ารายย่อย โดยราว 40% ของบัญชีเปิดใหม่ในปี 2554 เป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารกรุงไทย เทียบกับในปี 2553 ซึ่งมีสัดส่วนดังกล่าวไม่ถึง 10% บริษัทได้ใช้ความพยายามในการทำให้พนักงานของธนาคารมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลักทรัพย์มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการแนะนำลูกค้าของธนาคารให้มาใช้บริการของบริษัท การสนับสนุนจากธนาคารในแง่นี้ช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ไม่มีความสัมพันธ์กับธนาคารพาณิชย์ นอกจากความช่วยเหลือในการขยายธุรกิจแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังให้การสนับสนุนแก่บริษัททางด้านการเงิน โดยบริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารกว่า 80% ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อโดยรวมที่บริษัทได้รับอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะใช้เสริมสภาพคล่องและขยายกิจการในสภาวะปัจจุบัน

แม้ว่า บล.เคที ซีมิโก้ จะมีฐานลูกค้ารายย่อยที่กระจายตัว แต่รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังคงมาจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ในปัจจุบันบริษัทไม่มีแหล่งรายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจบริหารจัดการกองทุน แต่บริษัทกำลังพยายามที่จะเริ่มให้บริการบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคลโดยจะคิดค่าธรรมเนียมการบริหารสินทรัพย์ตามมูลค่าสินทรัพย์ของลูกค้า ในส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจนั้น รายได้ในปี 2554 มีไม่ค่อยมากเมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการแก่ BCEL-KT Securities Co., Ltd. (BCEL-KT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของบริษัทในประเทศลาว

บริษัทได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ไทยรายแรก ๆ ที่ขยายธุรกิจไปในแถบอินโดจีนผ่านทาง BCEL-KT และการลงทุนของ บล. ซีมิโก้ (ZMICO) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกรายของบริษัท ใน Thanh Cong Securities Joint Stock Company ในประเทศเวียดนาม การริเริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศน่าจะสร้างความได้เปรียบให้แก่บริษัทให้มีเหนือคู่แข่งรายอื่นในประเทศในการให้บริการวาณิชธนกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมข้ามชาติ ทริสเรทติ้งคาดหวังที่จะเห็นรายได้ของบริษัทจากธุรกิจวาณิชธนกิจเติบโตสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภายหลังการรับโอนธุรกิจหลักทรัพย์จาก ZMICO ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 บล.เคที ซีมิโก้จะสามารถมีผลการดำเนินงานที่มีกำไร แต่สัดส่วนกำไรต่อรายได้ของบริษัทยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 73% ของรายได้รวมในปี 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับประมาณ 60% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง เมื่อประกอบกับการที่ต้องพึ่งพารายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะเป็นแรงกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในสภาวะที่คาดว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นภายหลังการเปิดเสรีในปี 2555 แล้ว

บล. เคที ซีมิโก้มียอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ค่อนข้างสูงกว่า 2.1 พันล้านบาท ณ กลางปี 2554 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 8% ของยอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งอุตสาหกรรมและคิดเป็น 110% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเอง นอกจากนี้ บริษัทยังมียอดการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทที่ค่อนข้างสูงซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ยอดซื้อขายเริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2552 มีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของยอดซื้อขายรวมทั้งอุตสาหกรรม และเหลือ 9% ในปี 2553 และ 5% ในปี 2554

ณ กลางปี 2554 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.6 เท่าอันเป็นผลมาจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไป ณ สิ้นปี 2553 อยู่ที่ 50% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนดไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ