นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (TISCO) เปิดเผยว่า ภาพรวมของสินเชื่อในไตรมาส 2/55 จะกลับมาเติบโตกว่าในไตรมาส 1/55 ที่มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 194,560.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,547.18 ล้านบาท คิดเป็น 5.2% จากสิ้นปี 54
ทางกลุ่มทิสโก้วางแผนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของตลาดสินเชื่อเช่าซื้อที่จะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อทิสโก้โดยตรง เนื่องจากเป็นพอร์ตหลัก และการรุกตลาดต่างจังหวัดที่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทำให้มั่นใจว่าการขยายสินเชื่อเช่าซื้อในปีนี้จะเป็นอีกปีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายที่ 10-15% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเอสเอ็มอีก็มีการเติบโตอย่างโดดเด่นมากเนื่องจากความต้องการด้านสินเชื่อของผู้ประกอบการในตลาดยังคงมีอยู่
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในไตรมาส 1/55 แม้กลุ่มทิสโก้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยบ้าง แต่ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กลุ่มทิสโก้มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตของ สินเชื่อรวมถึง 5.2% จากสิ้นปี โดยสินเชื่อธุรกิจเติบโต 7.8% เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว จากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการลงทุนใหม่ๆ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องหลังน้ำลด ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เติบโต 9.2% จากสิ้นปี 54 และสินเชื่อรายย่อย ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก ยังคงมีการขยายตัวที่น่าพอใจ ที่ 4.4% จากสิ้นปี 54
ส่วนของเงินฝากยังรักษาการเติบโตได้ดี โดยในไตรมาส 1/55 เงินฝากออมทรัพย์มีจำนวน 20,511.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% และเงินฝากประจำมีจำนวน 17,785.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% โดยธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้านตั๋วแลกเงินลดลง 1.3% ซึ่งเป็นการปรับลดลงตามแผนการปรับตัวของธนาคาร เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผลประกอบการไตรมาส 1/55 กลุ่มทิสโก้มีผลกำไรหลังผู้ถือหุ้นส่วนน้อย จำนวน 836.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.24 ล้านบาท หรือ 1.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/54 เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยรวมที่เพิ่มขึ้น 25.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าตามการขยายตัวของสินเชื่อทุกภาคส่วนซึ่งเพิ่มขึ้น 17.3% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักอยู่ที่ 1,316.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนถึง 307.88 ล้านบาท หรือ 30.5% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งเพิ่มขึ้น 52.6% ตามการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อ และธุรกิจประกันภัย