ผู้บริหาร TTA ยื่นขอความเป็นธรรมต่ออสส. หลัง DSI สั่งฟ้องกรณีลงทุน UMS

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 23, 2012 08:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของ บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) แจ้งผ่านเอกสารเผยแพร่ว่า การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ในคดีเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทฯ ในหลักทรัพย์ของบ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ไปยังพนักงานอัยการ สำนักคดีพิเศษ สำนักงานการสูงสุดนั้น เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการปรกติของกฎหมาย

ขณะนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยมีประเด็นที่ขอความเป็นธรรมหลายประการ อาทิเช่น การรับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานก.ล.ต.ก่อนดังเช่นคดีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันในอดีต, การสั่งฟ้องคดีนี้ของดีเอสไอโดยละเว้นการสอบสวนพยานบุคคลบางรายที่มีความสำคัญในคดี, การละเว้นของดีเอสไอที่ไม่พิจารณาพยานหลักฐานสำคัญจำนวนมากที่ผู้บริหารได้มอบให้ดีเอสไอเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง และความน่าสงสัยในวัตถุประสงค์อันแท้จริงในการแจ้งความของผู้ถือหุ้นรายย่อยในคดีนี้ เป็นต้น ขณะนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ในระหว่างการพิจารณาเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากดีเอสไอ และจะได้มีความเห็นต่อไปว่าควรมีคำสั่งฟ้องผู้บริหารตามความเห็นของดีเอสไอหรือไม่

เนื่องจากบริษัทฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใส สำนักงานเชื่อมั่นว่า บริษัทฯ จะให้ความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างเต็มที่หากสำนักงานอัยการสูงสุดต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมประการใดเกี่ยวกับข้อกล่าวหา

นอกจากนี้ ขอชี้แจงว่า เกี่ยวคณะกรรมการบริษัทฯ ได้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบ และเป็นไปตามปกติทางธุรกิจการค้าของบริษัทฯ แล้วในการตัดสินใจลงทุนใน UMS ข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทฯ ตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์ของ UMS โดยไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ นั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากการตัดสินใจของบริษัทฯ ในการลงทุนในหลักทรัพย์ของ UMS นั้น มีการศึกษาและตรวจสอบสถานะกิจการของ UMS แล้วเป็นอย่างดี ด้วยกระบวนการภายในของบริษัทฯที่ถูกต้องและโปร่งใส ซึ่งประกอบไปด้วยที่ปรึกษาทั้งด้านการเงินและกฎหมายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลงทุน

โดยได้ทำการศึกษาตรวจสอบสถานะกิจการของ UMS จนเป็นที่เรียบร้อยอย่างดีแล้ว จึงนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติในที่สุด ส่วนกรณีการให้บริษัทอะธีนซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทฯ เข้าทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ใน UMS แทนนั้น สำนักงานได้ให้คำแนะนำและคำยืนยันว่า เป็นการดำเนินการที่ชอบภายในกรอบของกฎหมาย ต่อมาภายหลังจากนั้น บริษัท แอล เอส ฮอไรซัน จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมายอิสระอีกแห่งหนึ่ง ยังได้ทำความเห็นยืนยันตามความเห็นข้างต้นของสำนักงานว่าการดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในรายการที่มีลักษณะเช่นนี้

การที่บริษัทฯ ลงทุนใน UMS และในบริษัทอื่นรวมถึงเมอร์เมด ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎ ระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (“สำนักงาน ก.ล.ต.")

การที่ต่อมาภายหลังจากการลงทุน ราคาหุ้นของ UMS หรือของบริษัทอื่น ๆ มีความผันผวน รวมถึงการได้ผลขาดทุนหรือผลกำไรนั้นเป็นกลไกตามปกติของหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับเรื่องการลงทุนใน บมจ. เมอร์เมด มาริไทม์ หรือเรื่องของการที่ผู้ถือหุ้นเดิมของ UMS ถูก สำนักงานก.ล.ต. ดำเนินการกล่าวโทษและปรับเกี่ยวกับการขายหุ้นก่อนการแถลงผลประกอบการที่ลดลงนั้น ไม่ได้เป็นข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้องผู้บริหาร การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อหาแห่งคดีของดีเอสไอตามที่ปรากฏ รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมแก่ผู้บริหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ