บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. อาร์ ซี แอล(RCL) เป็นระดับ “BBB-" จาก “BBB" พร้อมทั้งปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทเป็นระดับ “BB+" จาก “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ"
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลประกอบการที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้จากปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ อาทิ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และอุปทานส่วนเกินของเรือที่มีจำนวนมาก นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก็ลดลงทั้งในธุรกิจกองเรือฟีดเดอร์ (Shipper-owned Container - SOC) และธุรกิจเรือบริการขนส่งตู้สินค้าประจำเส้นทาง (Carrier-owned Container - COC) โดยในปี 2554 บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 2,051 ล้านบาทเมื่อเทียบกับผลขาดทุนจำนวน 463 ล้านบาทในปี 2553
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีความสามารถและประสบการณ์ รวมทั้งสถานะผู้นำในตลาดผู้ประกอบการขนส่งทางเรือระดับภูมิภาคอันเนื่องมาจากความได้เปรียบในเรื่องขนาดของกองเรือ ความถี่ในการให้บริการ และอายุเฉลี่ยของกองเรือที่ยังต่ำ
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงสถานการณ์ทางการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยหลาย ๆ ประการซึ่งคาดว่าจะยังคงกดดันความสามารถของบริษัทในการปรับปรุงผลประกอบการและสถานะทางการเงินในระยะอันใกล้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงอีกหากบริษัทยังคงประสบภาวะขาดทุนอย่างมากและประสบปัญหาด้านสภาพคล่องในช่วงไตรมาสข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากบริษัทสามารถปรับเพิ่มอัตราค่าระวางการบรรทุกสินค้าจนสามารถปรับปรุงอัตราการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้ได้ก็จะส่งผลบวกต่ออันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ในปี 2554 ปริมาณการขนส่งสินค้าของ RCL ลดลง 7% นอกจากนี้ อัตราค่าระวางโดยเฉลี่ยของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 191 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้สินค้า (Twenty-foot Equivalent Unit - TEU) ในระหว่างปี 2553-2554 ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป รวมถึงอุปทานส่วนเกินของเรือที่มีจำนวนมากจนส่งผลให้การแข่งขันทวีความรุนแรงเป็นสำคัญ ในปี 2554 บริษัทมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงทั้งหมด 196.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับ 148.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงต่อรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 44% ในปี 2554 จากระดับประมาณ 31% ในปี 2553 ส่วนเงินเก็บเพิ่มจากค่าน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งเรียกเก็บจากลูกค้านั้นก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมากนักตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้นบริษัทจึงไม่ได้รับเงินชดเชยต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก
การลดลงของปริมาณการขนส่งสินค้าและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้รายได้และกระแสเงินสดของ RCL ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (ปรับปรุงรายการเช่าดำเนินงาน) อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 8.4% ในปี 2553 เป็น -2.3% ในปี 2554
นอกจากนี้ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (ปรับปรุงรายการเช่าดำเนินงาน) ก็ลดลงจาก 2.5 เท่าในปี 2553 เป็น -0.5 เท่าในปี 2554 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (ปรับปรุงรายการเช่าดำเนินงาน) ปรับตัวลดลงจาก 8.0% ในปี 2553 เป็น -6.1% ในปี 2554 อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงรายการเช่าดำเนินงาน) ปรับตัวดีขึ้นจาก 46.7% ในปี 2553 เป็น 45.6% ในปี 2554 ณ เดือนธันวาคม 2554 บริษัทมีเงินสดจำนวน 4,589 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของบริษัทตึงตัวขึ้นเนื่องจากบริษัทจะต้องชำระเงินกู้ยืมจำนวน 3,600 ล้านบาทในปี 2555 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการจะซื้อเรือใหม่จำนวน 2 ลำซึ่งจะส่งมอบภายในปี 2555-2556 โดยคาดว่าจะใช้เงินทุนจากการกู้ยืม วงเงินสินเชื่อส่วนใหญ่ของบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขหลายประการที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินและอัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม บริษัทประสบความสำเร็จในการยกเลิกเงื่อนไขในการดำรงอัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากเงื่อนไขทางการเงิน แต่บริษัทก็จะต้องดำรงเงินสดขั้นต่ำจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำรองเอาไว้ตลอดอายุของสัญญาเงินกู้
จากรายงานของ Alphaliner ปริมาณการบรรทุกสินค้าในช่วงปี 2555-2556 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านตู้ หรือคิดเป็น 26% ของปริมาณบรรทุกในปัจจุบันเนื่องจากผู้ประกอบการสั่งต่อเรือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 730 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตันจากระดับ 638 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตันในปี 2554 ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ผู้ประกอบการรายใหญ่ประสบความสำเร็จในการลดความจุระวางและเพิ่มอัตราค่าระวางในการบรรทุกสินค้า
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการติดตามความสามารถในการเพิ่มอัตราค่าระวางของ RCL ต่อไปแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเนื่องจากบริษัทมีอำนาจในการต่อรองที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วโลก ทั้งนี้ ความสามารถในการปรับเพิ่มอัตราค่าระวางการบรรทุกสินค้าจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดของบริษัทในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้