นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์(TUF) ระบุว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/55 ทำกำไรสุทธิเท่ากับ 1,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 95% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 54 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 760 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.53 บาท เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว
รายได้จากการขายในไตรมาสแรกนี้ บริษัทมีรายได้ในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 822 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่รายได้ในรูปเงินบาทก็มีการเติบโตในทิศทางเดียวกันโดยเพิ่มขึ้น 11% จาก 22,706 ล้านบาท ในปี 54 เป็น 25,304 ล้านบาทในปี 55 ส่วนรายได้รวมในไตรมาสแรกนี้เท่ากับ 25,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว
ยอดขายในไตรมาสนี้ยังใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ที่ผ่านๆ มาของบริษัท จะเป็นไตรมาสที่มีการเติบโตไม่โดดเด่นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่นๆ แต่ในปีนี้ บริษัทสามารถทำทั้งยอดขายและกำไรไตรมาส 1 ดีใกล้เคียงไตรมาสที่ดีที่สุดของปีที่แล้ว (ไตรมาส 3/2554 ยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 831 ล้านเหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิเท่ากับ 1,561 ล้านบาท) ยอดขายสินค้าทุกตัวของบริษัทมีการเติบโตที่ดี ทำให้ Gross Margin Profit ในไตรมาสนี้เท่ากับ 17.2% สูงกว่าปีที่แล้วที่เท่ากับ 14.8%
และในช่วงต้นปีนี้ บริษัทได้ประสบกับเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานกุ้ง ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้บริษัทต้องย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานอีกแห่งที่จังหวัดสงขลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อไตรมาส 1 บ้าง แต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานของเรายังเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามแผน บริษัทยังคงพร้อมเดินหน้าสำหรับเป้าหมายการเติบโตที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015
สำหรับเหตุการณเพลิงไหม้ที่ผ่านมา ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาพปกติเรียบร้อยแล้ว และการผลิตกุ้งก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทได้รับความเสียหายน้อยมาก เนื่องจากมีประกันครอบคลุมความเสียหายอันเกิดจากเหตุเพลิงไหม้ไว้ทั้งทรัพย์สินและสินค้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดจากธุรกิจที่หยุดชะงักไป ซึ่งบริษัทจะได้รับการชดเชยในส่วนนี้ทั้งหมด
สัดส่วนส่งออกของบริษัทโดยแบ่งตามยอดขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาส 1/2555 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า มีสัดส่วนการส่งออกถึง 50% รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 16% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 7% ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 8% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 5% ปลาแซลมอนแช่แข็ง 5% อาหารกุ้ง 4% ปลาซาร์ดีน/แมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 5% และปลาหมึกแช่แข็ง 1% ส่วนสัดส่วนรายได้ของบริษัทโดยแบ่งตามตลาดมีดังนี้ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 36% สหภาพยุโรป 30% ญี่ปุ่น 9% ขายในประเทศ 10% อัฟริกา 4% โอเชียเนีย 4% ตะวันออกกลาง 3% เอเชีย 3% แคนาดา 1% และอเมริกาใต้ 1%
ในปีนี้ บริษัทจะทำกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเข้มข้นสำหรับตลาดภายในประเทศ โดยมีการทำแบรนด์ดิ้งทั้งส่วนของ Corporate Brand และ Product Brand เพื่อให้บริษัทเป็นที่รู้จักในประเทศมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารายได้กว่า 90% ของบริษัทเป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทไม่เน้นเรื่องของการทำตลาดในประเทศมากนัก
แต่จากนี้ไปบริษัทจะเข้ามาทำเรื่องแบรนด์ดิ้งมากขึ้น เริ่มต้นจากการปรับในส่วนของโลโก้บริษัทใหม่ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และมีการทำหนังโฆษณาบริษัทชุดแรกที่บอกเล่าเรื่องราวถึงการเป็นบริษัทคนไทยและเป็นเจ้าของแบรนด์ปลาทูน่าชั้นนำระดับโลก เพื่อให้ผู้บริโภคคนไทยรู้จัก TUF มากขึ้น นอกจากนี้ยังจะมีการทำกิจกรรมการประชาสัมพันธ์และโฆษณาตามสื่อต่างๆ ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ นายธีรพงศ์ ยังได้กล่าวถึง ความคืบหน้าเรื่องการลงทุนในบริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของไทย และการเพิ่มทุนของบริษัทว่า ขณะนี้บริษัทได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท แพ็คฟู้ด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในราคาหุ้นละ 51 บาท จำนวน 12 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันนี้ จะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจอาหารทะเลของทั้งสองบริษัท รวมถึงจะช่วยเพิ่มศักยภาพเรื่องการจัดหาและจัดการวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการมีต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว
ส่วนเรื่องของการเพิ่มทุนนั้น ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 เม.ย ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน โดยจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนนี้ในสัดส่วน 5 หุ้นสามัญต่อ 1 หุ้นเดิม ที่ราคาหุ้นละ 50 บาทต่อหุ้น ทำ XR ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20-24 เม.ย. และจะเปิดให้ใช้สิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนชุดนี้ตั้งแต่วันที่ 14-18 พ.ค. นี้ คาดว่าจะสามารถซื้อขายหุ้นได้ตามปกติในช่วงปลายเดือนพ.ค. การเพิ่มทุนนี้จะทำให้บริษัทมีเงินทุนเพิ่มถึง 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนอย่างต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้งเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการลดหนี้ของบริษัท