TTA เผยมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายธุรกิจหลัก แม้ Q2/55 จะยังขาดทุน 205 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 16, 2012 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์(TTA)กล่าวว่า แม้ว่า หลายธุรกิจจะต้องเผชิญกับสภาวะการณ์ที่ย่ำแย่ของตลาดในภาพรวมในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มมองเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนจากหน่วยธุรกิจหลัก

"ทั้งหมดเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างภายในและความพยามยามในการควบคุมต้นทุนทางธุรกิจของเราเอง ...เรายังคงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ TTA กลับมามีผลกำไรในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผมมั่นใจว่าตอนนี้เราประสบความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่งแล้ว"ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว

TTA แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2/55 ระหว่าง 1 มกราคม-31 มีนาคม 2555 ขาดทุนสุทธิ 205 ล้านบาท และมีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,529 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนมีผลขาดทุนลดลง 63% ขณะที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 4% เนื่องจากผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง โทรีเซน ชิปปิ้ง ในขณะเดียวกันธุรกิจของเมอร์เมดก็เริ่มฟื้นตัวกลับมา และไม่มีการบันทึกรายการพิเศษที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

สำหรับ UMS มียอดจำหน่ายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม. สูงมากเป็นประวัติการณ์ แต่ถูกหักลบด้วยค่าใช้จ่ายในการบริหาร (SG&A)ที่เพิ่มสูงเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องยอมเสีย เพื่อให้โรงงานสมุทรสาครกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งโดยเร็วที่สุด

ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวว่า ขณะนี้เห็นสัญญาณธุรกิจเดินเรือที่ดีขึ้นในช่วงหกสัปดาห์แรกของไตรมาส 3 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) โดยอัตราค่าระวางเรือทั่วโลกได้ขยับขึ้นไป 23% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 (มกราคม-มีนาคม) ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ของชิปปิ้งทั่วโลกเริ่มดีขึ้นเช่นนี้ มั่นใจว่าโทรีเซนชิปปิ้งอาจจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเพื่อนร่วมธุรกิจรายอื่นๆ ที่จะกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ปิโตรลิฟต์ยังคงเป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนให้กับ TTA ได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่กระจายการลงทุนไว้

กลุ่มธุรกิจพลังงาน งวดไตรมาส 2/55 ขาดทุนสุทธิ 68 ล้านบาท ลดลง 43% แต่มีกำไรเบื้องต้นเพิ่มขึ้น 71% และกำไรจากการดำเนินงาน EBITDA ก็ดีขึ้นถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนสัญญาของลูกเรือและการใช้บริการ Shared Service ร่วมกับ TTA ซึ่งลดต้นทุนการจัดซื้อลงไปได้อย่างมาก ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าระหว่างช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม ยังคงเป็นช่วงฤดูมรสุม แต่เมอร์เมดยังสามารถรักษาอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้น้ำได้สูงถึง 59% ซึ่งเพิ่มจาก 55.3% ในไตรมาสที่แล้ว ด้วยการปล่อยเรือให้เช่า

นอกจากนี้แนวโน้มของธุรกิจวิศวกรรมใต้น้ำดูดีขึ้น โดยเฉพาะในน่านน้ำแถบตะวันออกกลางที่บริษัทเพิ่งคว้าสัญญาจ้างงานมาได้ถึง 3 ฉบับ ในขณะเดียวกัน เรือสนับสนุนการทำงาน MTR-1 และ เรือขุดเจาะ MTR-2 ก็มีงานเข้ามารองรับยาวตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ดังนั้น ด้วยความพยายามในการปรับปรุงการบริหารจัดการภายใน และแนวโน้มของตลาดที่เริ่มดีขึ้น เราคาดว่า เมอร์เมดจะกลับมามีกำไรในไตรมาส 3 นี้

ส่วน เหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซียที่ TTA ถือหุ้นอยู่มีความคืบหน้าของการขุดสำรวจเพื่อหาค่าปริมาณถ่านหินสำรองตามมาตรฐาน JORC ไปอย่างมาก โดยการขุดสำรวจเหมืองถ่านหินที่ได้รับสัมปทานที่ใจกลางเกาะกาลิมันตันแล้วเสร็จไปแล้ว 2 บล็อคจากจำนวนทั้งหมด 4 บล็อค ซึ่งพบว่า มีถ่านหินประเภทซับบิทูมินัส (ซึ่งเป็นถ่านหินชนิดเดียวกับที่ UMS นำเข้า) จำนวนมากกว่า 100 ล้านตันในพื้นที่ทั้งสองบล็อคดังกล่าว และคาดว่า การขุดสำรวจบล็อคที่เหลือจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่สามนี้

ขณะที่กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ในไตรมาส 2/55 กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 3 ล้านบาท ลดลง 96% จากปีก่อน เนื่องมาจากการเร่งจำหน่ายถ่านหินขนาด 0-5 มม. เพื่อให้โรงงานที่สมุทรสาครกลับมาเปิดดำเนินการได้เร็วที่สุด และยอดการจำหน่ายปุ๋ยของบาคองโคที่ลดลง เนื่องจากชาวนาชะลอการซื้อปุ๋ยไปไตรมาสถัดไป

อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภายในของธุรกิจหลัก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งกำลังอยู่ในช่วงขาลง ช่วยให้บริษัทอยู่รอดได้ในช่วงเวลาเช่นนี้เท่านั้น แต่ยังเพื่อยกระดับขีดความสามารถรองรับสถานการณ์ที่ตลาดจะกลับมาดีอีกครั้ง ดังนั้นคาดว่า หลังจากผลของการปรับพื้นฐานโครงสร้างบริษัทได้แสดงผลอย่างเต็มที่แล้ว จะเห็นกำไรจากเมอร์เมด และโทรีเซนชิปปิ้ง ในระยะเวลาอันใกล้นี้

ด้าน UMS จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้โรงงานที่สมุทรสาครกลับมาเปิดทำการได้เร็วที่สุด เพื่อให้ธุรกิจกลับไปอยู่ในสถานการณ์ปกติอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วและคาดการณ์ว่าโรงงานสมุทรสาครน่าจะกลับมาเปิดได้ และส่งให้ผลการดำเนินงานกลับมีกำไรอีกครั้งภายในไตรมาส 1/56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ