ธนาพัฒน์ฯ เล็งจัดโครงการลงทุนคอนโดฯ เสนอลูกค้า-ทำธุรกิจแบบใหม่รับมือ AEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 21, 2012 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาพัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ เปิดเผยว่า โครงการ ซิม วิภา-ลาดพร้าว คอนโดมิเนียมมีสไตล์ตกแต่งครบพร้อมอยู่ที่สุดบนถนนวิภาวดี-ลาดพร้าว ขณะนี้มีผลการตอบรับจากลูกค้าที่ดีมาก โดยมียอดขายเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ปัจจุบันมียอดขายไปมากกว่า 80-90% ของโครงการแล้ว อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงมองหาแนวทางใหม่ๆ โดยเตรียมจะนำเสนอโครงการลงทุนในรูปแบบของการซื้อห้อง พร้อมกับยังมีผลตอบแทนให้กับผู้ที่สนใจซื้อห้องโครงการ ซิม วิภา-ลาดพร้าว ด้วย โดยคาดว่าสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้บริษัท ได้เตรียมความพร้อมและเริ่มศึกษาแนวทางการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ให้กับโครงการใหม่ และโครงการเก่าที่มีอยู่ รองรับการเปลี่ยนแปลงจากจากการเปิดเสรีภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 หรือ AEC ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือ

สำหรับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางและล่าง ที่ราคาขายเฉลี่ยต่อยูนิตกว่า 2-3 ล้านบาท มีแนวโน้นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่มีโครงการจะขยายเพดานระดับราคาที่อยู่อาศัยใหม่จากปัจจุบันกำหนดที่ระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่พบว่าระดับราคาบ้านดังกล่าวนี้ไม่ค่อยมีอยู่ในตลาดแล้ว และการที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ศึกษาแนวทางการขยายวงเงินกู้ในโครงการบ้านหลังแรก 0% เป็นเวลา 3 ปี จากเดิมให้วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นแรงซื้อในตลาดและกลุ่มสินค้าในตลาดก็อยู่ในระดับดังกล่าวในสัดส่วนกว่า 50% ทั้งยังมีผลด้านจิตวิทยาต่อตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมด้วยเช่นกัน

"เราต้องติดตามผลการศึกษาของ ธอส. รวมถึงผลสรุปที่ได้จากภาครัฐว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนวงเงินได้เมื่อใดรวมถึงนโยบายการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธอส.ที่ได้เตรียมอนุมัติโครงการสินเชื่อที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งหากมีการออกนโยบายดังกล่าวมาเชื่อว่าจะช่วยเติมเต็มให้โครงการบ้านหลังแรก" นายดลพิวัฒน์ กล่าว

และภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นพร้อมกลับเข้ามาสู่ภาวะปกตินับจากเกิดปัญหาน้ำท่วมช่วงปลายปี 2554 แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต้นทุนก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าวัสดุการก่อสร้าง และค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีผลทำให้งานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการงานก่อสร้างมีความล่าช้า ส่วนงานก่อสร้างใหม่ก็อาจเกิดปัญหาผู้รับเหมาก่อสร้างหรือหาแรงงานไม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ