ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน-คงเครดิตองค์กร CK ที่ BBB แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 30, 2012 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ บมจ. ช. การช่าง (CK) ที่ระดับ “BBB" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างพื้นฐานและโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความยืนหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงของสัญญาที่มีลักษณะต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-price Contract) และภาระหนี้ที่สูงของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบันในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถลดภาระหนี้และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการรักษาโครงสร้างทางการเงินที่ดีขึ้นในระยะปานกลางได้

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทยังคงลงทุนต่อเนื่องในโครงการไซยะบุรีโดยที่ยังไม่ได้รับผลตอบแทนที่จะลดสัดส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เรียกชำระได้ หรือในกรณีที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเกินกว่า 2.5 เท่าเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งรายงานว่า CK ก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่จำนวน 3 รายในตลาดหลักทรัพย์และมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงโครงการที่มีความซับซ้อนสูง ประสบการณ์ที่หลากหลายดังกล่าวเมื่อรวมกับการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำจากต่างประเทศแล้วนับเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้แก่บริษัททั้งในด้านการประมูลงานและเทคโนโลยีในการก่อสร้าง

บริษัทมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน 3 ราย ได้แก่ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) และ บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในอีกหลายบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าและมีโครงสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งจากสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐ บริษัทได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอประมาณปีละ 550 ล้านบาทจากการลงทุนใน BECL และ TTW ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงจากลักษณะผันผวนของรายได้ที่มาจากธุรกิจก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ BMCL และแผนการลงทุนต่อเนื่องของบริษัทยังคงเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในปัจจุบัน

มูลค่างานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบของ CK ปรับตัวสูงขึ้นมากในไตรมาส 1/55 หลังจากที่บริษัทได้ลงนามในสัญญาโครงการเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวซึ่งมีมูลค่า 7.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน มี.ค.55 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 109,783 ล้านบาท โดยโครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 62% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด

CK มีแนวโน้มรายได้ที่ดีในระยะปานกลางจากการมีมูลค่างานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบจำนวนมากและมีโครงการที่รอลงนามในสัญญา ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ระหว่าง 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 55-57 อัตราส่วนกำไรก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวเป็นบวกในไตรมาส 1/55 จากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในโครงการที่เพิ่งเริ่มต้นและบริษัทยังสามารถควบคุมต้นทุนได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5%-7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ภาระหนี้ของ CK อยู่ในระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค.55 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 76.6% โดยภาระหนี้ที่สูงดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านการให้กู้ยืมแก่ BMCL ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะปรับลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 70% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าได้ค่อนข้างยากเมื่อพิจารณาถึงแผนการลงทุนในอนาคตของบริษัท มีอัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่องที่อ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าหลักทรัพย์ที่บริษัทถือครองจำนวนมาก ณ สิ้นเดือน มี.ค.55 เงินลงทุนของบริษัทมีมูลค่ายุติธรรมที่ 9 พันล้านบาท หรือประมาณ 39% ของภาระหนี้รวมของบริษัทที่ 2.3 หมื่นล้านบาท บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นอยู่ที่ 4 พันล้านบาท และมีหนี้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 3.9 พันล้านบาท

ปัจจุบันทริสเรทติ้งกำลังติดตามความคืบหน้าของสถานะเงินทุนหมุนเวียนที่มีความตึงตัวมากขึ้นหลังจากบริษัทใช้เงินลงทุนไปประมาณ 5 พันล้านบาทในโครงการไซยะบุรีโดยยังไม่ได้รับผลตอบแทนในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เรียกชำระปรับตัวสูงขึ้นจาก 3.8 พันล้านบาทในปี 2552 เป็น 8.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มี.ค.55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ