(เพิ่มเติม) UMI เข้าซื้อ"ที.ที.เซรามิค"400 ลบ.ดันกำลังการผลิตเพิ่ม 8 ล้านตร.ม./ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 14, 2012 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สหโมเสคอุตสาหกรรม (UMI) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้บริษัทฯเข้าลงทุนในบริษัท ที.ที.เซรามิค จำกัด หรือ “TTC" โดยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในวงเงินไม่เกิน 400 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนหุ้นไม่เกิน 400,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาหุ้นเพิ่มทุน หุ้นละ 1 บาท ต่อ 1 หุ้น เป็นไปตามแผนที่ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการได้เสนอต่อศาลล้มละลายกลางและขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณา

TTC ซึ่งมีกำลังการผลิต 8 ล้านตร.ม./ปี โดยสอดคล้องกับนโยบายบริษัทที่จะเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มสินค้าประเภทพอร์ซเลน ที่จะช่วยให้บริษัทมีสินค้าหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งแผนกลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทได้เสนอแผนฟื้นฟูเพื่อเข้าลงทุนใน TTC โดยซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนหลังเหตุเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ TTC ต่อศาล เมื่อ 10 มี.ค. 54 และศาลได้มีคำสังให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อ 30 พ.ค. 54 โดยบริษัทได้เสนอแผนให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งจัดสรรให้ UMI 400 ล้านบาท และแปลงหนี้เป็นทุนให้กลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 100 ล้านบาท มุลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ดังนั้น UMI จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน TTC คิดเป็น 80% ของจำนวนหุ้น TTC ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาแผนฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง

ปัจจุบัน TTC มีทุนจดทะเบียนจำนวน 1,050,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 10,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100,000 บาท โดยเป็นทุนเรียกชำระแล้วทั้งจำนวน

โรงงานของ TTC ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรีก่อสร้างเสร็จสิ้นเมื่อประมาณปี 2550 หลังจากเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปลายปี 2551 ทำให้ตลาดก่อสร้างทั้งภายในประเทศและทั่วโลกถดถอยอีกทั้งมีการแข่งขันเรื่องราคาสินค้ากับกระเบื้องจากประเทศจีนที่นำเข้ามาในประเทศไทยจากผู้จัดจำหน่ายและผู้ผลิตกระเบื้องรายอื่นๆ ในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการใช้กำลังการผลิตลดลงประมาณร้อยละ 44 และ ร้อยละ 30 ในปี 2553 และปี 2554 ตามลำดับ

ในช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติ TTC ยังคงรักษาสถานภาพของเงินทุนหมุนเวียนได้โดยการลดสินทรัพย์หมุนเวียน แต่จากยอดการสั่งสินค้าที่ลดต่ำลงและการผลิตสินค้าลดลงทำให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดย TTC เริ่มผิดนัดชำระหนี้ทางการเงินกับเจ้าหนี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 เจ้าหนี้สถาบันการเงินเห็นว่าหาก TTC ได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน โดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจาก UMI การปรับโครงสร้างทุนของ TTC รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างของกิจการจะทำให้ผลประกอบการทางการเงินของ TTC มีแนวโน้มดีขึ้นในระยะยาวและสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้

สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดกับบริษัทนั้น การลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทฯ ช่วยให้บริษัทฯมีสินค้าหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มซึ่งเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มอำนาจต่อรองในการจัดซื้อวัตถุดิบฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผลจากกำไรของ TTC และ มูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นในอนาคต หาก TTC ประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ

TTC มีโรงงานและเครื่องจักรที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจและเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก หาก UMI ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในการผลิตและจัดจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกมาเกือบ 40 ปี เข้าร่วมลงทุนและฟื้นฟูกิจการก็จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท โดย UMI มีแผนที่จะช่วยเพิ่มรายได้ของ TTC โดยการขยายตลาด และ ลดต้นทุนการผลิตโดยการปรับปรุงขบวนการผลิตซึ่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูจะเป็นตัวแทนจาก UMI ด้วย

ส่วนแหล่งเงินทุนที่ใช้เป็นเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นของ UMI แต่อาจมีผลกระทบในด้านค่าใช้จ่ายในรูปดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นและอาจทำให้กำไรของ UMI ลดลง ในทางกลับกันหาก TTC มีกำไรจากการดำเนินงานและสามารถจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น ก็จะช่วยให้ UMI มีกำไรเพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนด้วย

ทั้งนี้ กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2555 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 เวลา 14.00 น. และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2555 (Record Date) เป็นวันที่ 28 มิถุนายน 2555 และให้รวบรวมรายชื่อตาม ม.225 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียน ในวันที่ 29 มิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ