บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกัน ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนความสามารถของคณะผู้บริหาร การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง อัตราส่วนกำไรที่ถูกกดดันจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่สูงขึ้น รวมทั้งภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงในระยะปานกลาง
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไว้ได้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 50% เป็นเวลานานต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า LH ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทยก่อตั้งในปี 2526 โดยตระกูลอัศวโภคิน ณ เดือนมิถุนายน 2555 ตระกูลอัศวโภคินมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 31% รองลงมาคือ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) ในสัดส่วน 16%
สินค้าหลักของบริษัทคือ บ้านเดี่ยวซึ่งสร้างรายได้ในสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของรายได้รวม แบรนด์ที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่โดดเด่นในคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย การมีสินค้าบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์และราคาที่หลากหลายช่วยให้บริษัทสามารถเลือกเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับกำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละทำเล ความแข็งแกร่งทางการตลาดของบริษัทสะท้อนจากยอดขายที่อยู่ในระดับ 1.6-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.9-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 บริษัทมียอดขายโครงการคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 2.9 พันล้านบาท โดยที่บริษัทจะรับรู้ยอดขายดังกล่าวเป็นรายได้ประมาณ 2.2 พันล้านในปี 2555 ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 2555 ยังคงเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถรักษาฐานรายได้ในปี 2555 ไว้ได้อย่างน้อยในระดับใกล้เคียงกับรายได้ของปีก่อน
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 19.7% ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 18%-19% ในระยะปานกลาง ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรอาจปรับลดลงได้ในระยะสั้นจากราคาวัสดุและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจ
บริษัทมีภาระหนี้ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ทว่าความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีเงินลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีซึ่งสามารถสร้างรายได้ และถือเงินลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ เดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ 45.8% ทั้งนี้ บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.25 เท่าตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.8 เท่า
ทริสเรทติ้งมองว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะได้รับแรงกดดันต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปสะท้อนถึงแผนการขยายโครงการแนวสูงที่จะมีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินสดประมาณ 1.4 พันล้านบาทจากการตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็น่าจะช่วยลดแรงกดดันด้านภาระหนี้ได้ในระดับหนึ่ง สภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทได้รับแรงสนับสนุนจากเงินลงทุนในบริษัทอื่นที่มีมูลค่ายุติธรรมที่ 3.88 หมื่นล้านบาท
ผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้คาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในทำเลที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก นโยบายสนับสนุนด้านภาษีและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปลอดดอกเบี้ยของรัฐบาลอาจไม่มีผลกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสต่อ ๆ ไปข้างหน้าเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และภาระหนี้ของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง