บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยของบริษัทที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในบริเวณมาบตาพุด
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะค่อย ๆ เพิ่มกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทในปี 2556 และปี 2557 ตามลำดับ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า GLOW ก่อตั้งในปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer — IPP) ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกลุ่ม GDF Suez ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป
ปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย โดยในปี 2554 มีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ Cogeneration ประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมด ณ เดือนมีนาคม 2555 กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,416 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย IPP 865 เมกะวัตต์ และ Cogeneration 1,551 เมกะวัตต์โดยโรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และโรงไฟฟ้า IPP พลังงานน้ำอีกแห่งตั้งอยู่ในประเทศลาว
ธุรกิจโรงไฟฟ้า Cogeneration ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุดโดยบริษัทขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าในธุรกิจยานยนต์ในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยองเพียงประมาณ 2% ของกำลังการผลิตรวมเท่านั้น
จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 2,416 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำจำนวน 1,206 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA อายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน1,593 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาคงเหลือระหว่าง 5-25 ปี ส่วนปริมาณไฟฟ้าที่เหลือและไอน้ำ รวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้นบริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วน 55%-60% และส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม
ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 4,249 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2554 โดยเพิ่มขึ้น 9.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นและการรวมงบการเงินกับ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 11 จำกัด และ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 13 จำกัด ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ในขณะเดียวกัน ความต้องการใช้ไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 15.8% เมื่อเทียบกับปี 2553 ทำให้รายได้รวมของบริษัทสูงขึ้น 13.0% เป็น 40,359 ล้านบาท
แม้ว่าในปี 2554 ปริมาณขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP จะลดลงเนื่องจาก EGAT สั่งจ่ายไฟน้อยกว่าปกติเนื่องจากปัญหาอุทกภัย แต่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 23.0% ในปี 2554 จาก 25.0% ในปี 2553 เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมากในขณะที่กำลังการผลิตส่วนขยายยังเดินเครื่องไม่เต็มที่ EBITDA ของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นเพียง 4.3% เป็น 9,477 ล้านบาท จาก 9,084 ล้านบาทในปี 2553
อัตรากำไรจากการดำเนินงานยังปรับตัวลดลงเป็น 19.3% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เนื่องจากรัฐบาลชะลอการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Fuel Adjustment -- Ft) ทำให้ EBITDA ของบริษัทลดลงเป็น 2,176 ล้านบาทหรือลดลง 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้และค่าปรับที่ได้รับจากผู้รับเหมาของโครงการเก็คโค่ วัน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 660 เมกะวัตต์ บริษัทบันทึกค่าปรับจากความล่าช้าของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวน 1,046 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปี 2555 เพิ่มเติมจากที่บันทึกไปแล้วจำนวน 546 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับ 64% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 เนื่องจากการกู้ยืมเพื่อการลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามแผน คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2555 เนื่องจากรัฐบาลได้อนุมัติให้ปรับเพิ่มค่า Ft จำนวน 0.30 บาทต่อหน่วยในระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคม 2555 ในขณะที่ค่าเชื่อเพลิงมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเช่นเดียวกับราคาน้ำมันเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างพัฒนาในปัจจุบันประกอบด้วยโรงไฟฟ้า IPP 1 โครงการและโรงไฟฟ้า SPP อีก 1 โครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 660 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ IPP หรือ “เก็คโค่ วัน" ล่าช้ากว่ากำหนดมากว่า 6 เดือนแล้วเนื่องจากการก่อสร้างล่าช้าและการทดสอบระบบกับ กฟผ. ใช้เวลาค่อนข้างนาน คาดว่าโครงการเก็คโค่ วัน จะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ความล่าช้าของโครงการเก็คโค่ วัน ทำให้บริษัทโกลว์ พลังงานต้องจ่ายเงินค่าปรับให้แก่ กฟผ. ตามสัญญา PPA อย่างไรก็ตาม เงินค่าปรับที่บริษัทได้รับจากผู้รับเหมาก่อสร้างคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าปรับให้แก่ กฟผ.
ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP นั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2555 โดยจะใช้เงินลงทุนอีก 1,300 ล้านบาทในปีนี้ โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 770 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จะเพิ่มขึ้น 32% เป็น 3,186 เมกะวัตต์ในปี 2555 หลังเสร็จสิ้นการลงทุนจำนวนมากโดยบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้ทำให้คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในปี 2556-2557