นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทุนธนชาต(TCAP)กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/55 ว่า กลุ่มธนชาตมีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/55 และไตรมาส 4/54 หลังจากผ่านปีแห่งการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย พร้อมทั้งก้าวผ่านวิกฤตอุทกภัยในปลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าในครึ่งแรกปีนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำกว่าครึ่งแรกปีที่แล้วก็ตาม
ผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นปัจจัยหลักเกิดจากการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ NPL ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 5.9% เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 5.1% ณ สิ้นไตรมาส 2/55 รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หากไม่นับรวมการแก้ไขหนี้ NPL และปิดบัญชีลูกหนี้ NPL รายใหญ่ สินเชื่อเติบโตถึงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 54 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก Synergy และค่าธรรมเนียมจากการ Cross-sell ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าสินเชื่อจะยังเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มธนชาต ในขณะเดียวกันกลุ่มธนชาตจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยผสานพลังภายในกลุ่มในการทำ cross-sell ผ่านเครือข่ายสาขาทั่วประเทศกว่า 630 สาขา อีกทั้งจะลด NPL ลงมาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับหลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 4/54 เนื่องจากในปีนี้ธนาคารได้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของกลุ่มธนชาต เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในครึ่งปีหลังธนาคารได้มีการวางระบบกระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สินเชื่อขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อ SME และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในขณะเดียวกันธนาคารมีนโยบายในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กันไป ทั้งค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานด้วยการรวมงาน back office เข้าไปไว้ที่เดียวกัน ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยด้วยการขยายสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ และค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญด้วยการบริหารจัดการสินเชื่อ PL และ NPL อย่างมีประสิทธิภาพ