ทริสฯ คงเครดิตองค์กร CGS ที่ "BBB-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 24, 2012 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บล. คันทรี่กรุ๊ป (CGS) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงพื้นฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้ประจำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจากการลงทุนใน บลจ.เอ็มเอฟซี อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีขัอจำกัดจากประวัติผลงานของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันในการดำรงผลการดำเนินงานและความสามารถในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและภาวะตลาดหุ้นไทยที่ยังมีความผันผวนอยู่มาก รวมทั้งความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทยังทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดซึ่งมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความตั้งใจของผู้บริหารที่จะคงสัดส่วนการถือหุ้นใน บลจ. เอ็มเอฟซี เอาไว้และมองหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานลูกค้าตลอดจนบุคลากรด้านการตลาดเอาไว้ได้ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และมีระบบจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอสำหรับใช้ควบคุมความเสี่ยงทั้งในด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัท การออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์

ทริสเรทติ้งรายงานว่า หลังจากมีผลขาดทุนมานานหลายปี CGS ก็เริ่มมีผลกำไรในปี 2552 โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณพร้อมทั้งคณะผู้บริหารและบุคลากรด้านการตลาดจำนวนมากได้เข้ามาร่วมงานกับบริษัท หลังจากนั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากระดับประมาณ 3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มาเป็นกว่า 6% ในช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกัน สำหรับครึ่งแรกของปี 2555 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ 5.4% (คิดเป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรม) เทียบกับ 5.1% (อันดับ 3) ในปี 2554 และ 5.9% (อันดับ 2) ในปี 2553

ส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงขึ้นประกอบกับสภาวะตลาดที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยส่งผลให้ CGS มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,611 ล้านบาทในปี 2553 และ 1,547 ล้านบาทในปี 2554 เทียบกับรายได้เพียง 898 ล้านบาทในปี 2552 แต่ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของบริษัทยังไม่สูงมากนักเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทจะลดลงบ้างจาก 81% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 77% ในปี 2554 แต่อัตราส่วนดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารในการที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดให้เต็มที่กว่านี้

การบังคับใช้อัตราค่านายหน้าแบบขั้นบันไดตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ได้ทำให้อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยของ CGS ลดลงจาก 0.22% ในปี 2552 มาอยู่ที่ประมาณ 0.17% ในปี 2553 และปี 2554 ทั้งนี้ ในปี 2555 อัตราค่านายหน้าน่าจะลดต่ำลงอีกจากการแข่งขันที่รุนแรงหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยในไตรมาสแรกของปี 2555 อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยของบริษัทลดลงอีกเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.16% แม้ว่าจะยังไม่มีสงครามราคาที่ทำให้อัตราค่านายหน้าในอุตสาหกรรมลดต่ำลงอย่างไม่สมเหตุสมผล แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวยังคงเป็นความเสี่ยงที่คุกคามความสามารถในการทำกำไรของทั้งอุตสาหกรรม และอาจกระทบกับผลประกอบการของบริษัทในอนาคตได้

ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซี คิดเป็นสัดส่วน 24% และ 19% ของกำไรสุทธิของ CGS ในปี 2553 และปี 2554 ตามลำดับ บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซี เป็น 20.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อันมีผลทำให้ บลจ. เอ็มเอฟซี เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วม บริษัทได้ทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจนอยู่ที่ระดับ 24.9% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซี นี้ถือเป็นแหล่งรายได้ประจำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแหล่งหนึ่งของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมี บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นลูกค้าสถาบันในประเทศรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย

แม้ว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของ CGS จะสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552 แต่ก็ได้ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ทั้งนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทมีทั้งในส่วนของการเก็งกำไรรายวันและการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หลายชุดด้วยกันตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากหนี้สินอนุพันธ์ทางการเงินจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าว ในด้านความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น บริษัทมียอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้างจำนวน 1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งคิดเป็น 35% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและเป็น 3.3% ของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งอุตสาหกรรม

ส่วนของผู้ถือหุ้นของ CGS อยู่ที่ประมาณ 2.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 อัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.4 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 เทียบกับ 1.5 เท่า และ 1.3 เท่า ณ สิ้นปี 2553 และปี 2554 ตามลำดับ ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปในระดับที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ 239% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนดอยู่มาก

ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาถือได้ว่าคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและเพิ่มผลกำไรให้แก่ CGS เพียงแต่ว่าผลกำไรที่ดีขึ้นนี้เกิดในปีที่ดีของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์โดยรวม ดังนั้น ความท้าทายของผู้บริหารจึงอยู่ที่การคงรักษาสถานภาพทางการตลาดของบริษัทเอาไว้และปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรเพื่อให้บริษัทสามารถผ่านวัฎจักรความผันผวนของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ได้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ