ทริสฯ ให้เครดิตหุ้นกู้-คงเครดิตองค์กร MBK ที่ A แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 20, 2012 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทและหุ้นกู้มูลค่า 400 ล้านบาท (MBK229A) ของ บมจ. เอ็ม บี เค (MBK) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้ สำรองสภาพคล่องและลงทุนเพิ่ม

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มธนชาต รวมถึงความยืดหยุ่นด้านการเงินจากการมีเงินลงทุนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากต้นทุนการดำเนินงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2556 เมื่อสัญญาเช่าที่ดินและทรัพย์สินของศูนย์การค้าฉบับใหม่เริ่มมีผลในทางปฏิบัติ

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก และคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับคุณภาพสินเชื่อรถจักรยานยนต์เอาไว้ในระดับที่ดีจากการมีขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่เข้มงวด ทั้งนี้ จากแผนรายจ่ายฝ่ายทุนที่อยู่ในระดับปานกลางในปี 2555-2556 ทำให้คาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับปัจจุบันเอาไว้ได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า MBK ก่อตั้งในปี 2517 ปัจจุบัน บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และบริษัทในเครือเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทในสัดส่วนรวม 20% บริษัทดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก โรงแรม สนามกอล์ฟ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ธุรกิจข้าว และธุรกิจการเงิน โดยเป็นเจ้าของและบริหารศูนย์การค้า “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์" ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่บนที่ดินเช่าติดกับย่านสยามสแควร์ในใจกลางกรุงเทพฯ แม้จะมีธุรกิจที่หลากหลาย แต่ผลประกอบการของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับสินทรัพย์หลักอันได้แก่ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และ “โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส" ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยในครึ่งแรกของปี 2555 สินทรัพย์ดังกล่าวสร้างรายได้ประมาณ 32% และสร้างกระแสเงินสดประมาณ 53% ให้แก่บริษัท

เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้ MBK จึงขยายการลงทุนในธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น โดยบริษัทลงทุนถือหุ้น 31% ใน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและบริหารศูนย์การค้าในย่านสยามสแควร์ บริษัทสยามพิวรรธน์เป็นผู้ถือหุ้น 100% ในศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ (19,000 ตารางเมตร (ตร.ม.)) และศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ (23,200 ตร.ม.) และถือหุ้น 50% ในศูนย์การค้าสยามพารากอน (186,010 ตร.ม.) นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทสยามพิวรรธน์ (สัดส่วน 50:50) ปรับปรุงตกแต่งพื้นที่และเปิดให้บริการพื้นที่ให้เช่าใน “ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค" (เดิมชื่อ “ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์") ขนาด 90,177 ตร.ม. อย่างเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2553

และในเดือนสิงหาคม 2554 บริษัทได้เปิด “เดอะ ไนน์" ซึ่งเป็นศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) แห่งแรกของบริษัทซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 โดยมีพื้นที่ค้าปลีก 12,873 ตร.ม. และมีพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่ารวม 8,979 ตร.ม. ด้วย ณ เดือนมิถุนายน 2555 บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารพื้นที่ค้าปลีกรวม 205,251 ตร.ม. และพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่ารวม 57,895 ตร.ม.

สำหรับธุรกิจโรงแรม ปัจจุบัน บริษัทเป็นเจ้าของและให้บริการโรงแรม 6 แห่งในจังหวัดท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยโดยมีจำนวนห้องพักรวม 972 ห้อง จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยของบริษัทอยู่ในระดับสูงที่ 69% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 และอัตราค่าห้องพักเพิ่มขึ้น 3.3% สู่ระดับ 2,940 บาทต่อห้องในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ดังนั้นอัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ของบริษัท (Revenue Per Available Room - RevPAR) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1,914 บาทต่อห้องในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เป็น 2,033 บาทต่อห้องในช่วงครึ่งแรกของปี 2555

นอกจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่แล้ว ในปี 2553 บริษัทยังซื้อกิจการของ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2555 บริษัทที ลีสซิ่ง มียอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คงค้าง 1,180 ล้านบาท จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 อัตราส่วนเงินสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 4.2% ณ เดือนกันยายน 2554 เป็น 6.5% ณ เดือนมีนาคม 2555 แต่ปรับลดลงสู่ระดับ 3.6% ณ เดือนมิถุนายน 2555 อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อพร้อมกับการขยายขนาดสินเชื่อนับเป็นความท้าทายของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2555 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันรวม 2,551 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ที่ 45%

สำหรับปีบัญชี 2554/2555 (กรกฎาคม 2554-มิถุนายน 2555) บริษัทเอ็ม บี เคมีรายได้เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 7,819 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 30.0% ในปีบัญชี 2553/2554 เป็น 33.4% ในปีบัญชี 2554/2555 โดยอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับปรุงธุรกิจโรงแรมและพื้นที่ให้เช่า อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นไป บริษัทจะต้องจ่ายค่าเช่าประจำปีของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์เพิ่มขึ้นจาก 85 ล้านบาทต่อปีเป็น 695 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทจะลดลงหากบริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้เช่าได้ทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มค่าเช่าเพื่อชดเชยกับภาระค่าเช่าที่ดินที่สูงขึ้นซึ่งจะช่วยปรับปรุงอัตรากำไรให้ดีขึ้น

เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,086 ล้านบาทในปีบัญชี 2553/2554 สู่ระดับ 2,337 ล้านบาทในปีบัญชี 2554/2555 เงินกู้รวมของบริษัทลดลงจาก 9,206 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 เหลือ 7,173 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 เนื่องจากการชำระคืนเงินกู้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 22.7% ในปีบัญชี 2553/2554 เป็น 32.6% ในปีบัญชี 2554/2555 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 42.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 เป็น 33.7% ณ เดือนมิถุนายน 2555 สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2555 บริษัทมีเงินสดจำนวน 999 ล้านบาท ในขณะที่เงินลงทุนมีมูลค่า 4,511 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ