ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้-คงเครดิตองค์กร BECL ที่ A แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 26, 2012 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ บมจ. ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้จะใช้เป็นเงินสำรองในการบริหารการเงินของบริษัท

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอของปริมาณการจราจรบนทางด่วน การมีกระแสเงินสดที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 หรือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และการมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต การแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทางด่วน และการลงทุนขนาดใหญ่ในสัมปทานทางด่วนใหม่

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้ต่อเนื่องเพื่อที่จะสำรองเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้ในการชำระหนี้ของบริษัท ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะระมัดระวังการจ่ายเงินปันผลและจัดการโครงสร้างเงินทุนของบริษัทโดยเฉพาะในช่วงการลงทุน เพื่อที่จะรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทเอาไว้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า BECL เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ทางด่วนขั้นที่ 2 เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ซึ่งก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. ก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อจากใจกลางกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด

บริษัทและ กทพ. มีการแบ่งรายได้ในเขตเมืองสำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไป สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. ได้เปลี่ยนจาก 50:50 เป็น 40% ให้แก่บริษัท และ 60% ให้แก่ กทพ. สำหรับในเขตนอกเมืองและทางด่วนส่วน C+ นั้นบริษัทไม่ต้องแบ่งรายได้กับ กทพ. การปรับสัดส่วนรายได้ดังกล่าวมีผลทำให้รายได้ค่าผ่านทางโดยเฉลี่ยต่อวันของบริษัทลดลง 6.4% ในขณะที่ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 5.2% อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าผ่านทางโดยเฉลี่ยต่อวันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ได้กลับมาอยู่ที่ระดับเดิมก่อนมีการปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ที่ 20.9 ล้านบาท

ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7% ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (2544-2554) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,076,559 เที่ยว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจรในเขตนอกเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะ Sector D ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางปริมาณจราจรบนทางด่วนจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยออกไปยังเขตปริมณฑล และการจราจรที่ติดขัดบนถนนปกติ

ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทาง 3,809 ล้านบาท โดยมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% และ 9% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการปรับตัวที่ดีขึ้นนี้เป็นผลมาจากปริมาณจราจรบนทางด่วนที่เพิ่มสูงขึ้น 5.8% โดยเฉพาะในเขตนอกเมือง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 78.5% เมื่อเทียบกับ 80.24% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลมาจากการปรับส่วนแบ่งรายได้ และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บค่าผ่านทาง กระแสเงินสดของบริษัทแข็งแกร่งโดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 12.99% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี)

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะอ่อนแอลงจากปัจจุบัน โดยเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาทสำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้คาดว่าจะเป็นกระแสเงินสดภายในบริษัท เงินกู้จากธนาคาร และการออกหุ้นกู้ การก่อสร้างส่วนต่อขยายทางพิเศษมีกำหนดเริ่มดำเนินการในปี 2555 และจะแล้วเสร็จในปี 2559 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2558 ตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2555 ภาระหนี้ของบริษัท (ภาระหนี้หักด้วยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น) อยู่ที่ 14,472 ล้านบาท ลดลงจาก 15,901 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ