ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้-คงเครดิตองค์กร KK ที่ A- แนวโน้ม Positive

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 27, 2012 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “A-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การบริหารความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และฐานเงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากมูลค่าเครือข่ายธุรกิจ (Franchise Value) ในระดับปานกลางของธนาคาร และเครือข่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในอนาคต

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในระยะกลาง รวมทั้งสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และดำรงเงินกองทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเงิน สิ่งที่ยังคงเป็นกังวลได้แก่ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอันสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัย และต้นทุนทางการเงินที่อาจสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ ความสามารถในการดำรงไว้ซึ่งจุดแข็งของธนาคารและการรักษาฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพไว้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

ทริสเรทติ้งรายงานว่า KK เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 จากทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งการตลาดของสินทรัพย์ที่ 1.8% สินเชื่อ 1.8% และเงินรับฝาก 1.3% ณ เดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีความชำนาญในธุรกิจหลัก อันได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

สินเชื่อรวมของธนาคารเติบโตขึ้น 13% จาก 135.7 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 154.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ธนาคารมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 75% ในขณะที่สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและสินเชื่อประเภทอื่น ๆ มีสัดส่วน 25%

ณ เดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสิ้น 115.5 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% จาก 100.8 พันล้านบาทในปี 2554 ส่วนสินเชื่อกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเติบโตเพิ่มขึ้น 12% จาก 23.3 พันล้านบาทในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 26.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555

KK ประสบความสำเร็จในการควบรวมกิจการกับ บมจ.ทุนภัทร (PHATRA) ตามกลยุทธ์การเติบโต โดยมีผลวันที่ 13 กันยายน 2555 ธนาคารได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัททุนภัทรด้วยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) ทั้งนี้ บริษัททุนภัทรประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ณ เดือนสิงหาคม 2555 มากเป็นอันดับ 10 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 32 แห่ง การควบรวมกิจการในครั้งนี้เพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจทางการเงิน โดยคาดว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจวาณิชธนกิจในตลาดทุนได้ สถานะทางธุรกิจและการเงินคาดว่าจะดีขึ้นในระยะยาวหากธนาคารประสบความสำเร็จในการได้รับประโยชน์จากการผสานความร่วมมือภายในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ในทันทีภายหลังการควบรวมกิจการคาดว่าจะยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะเครดิตของธนาคาร

ธนาคารขยายธุรกิจโดยเน้นสินทรัพย์คุณภาพดี โดยกำหนดนโยบายสินเชื่อและเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 8.2 พันล้านบาทในปี 2550 มาอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยในประเทศไทยช่วงปลายปี 2554 กระนั้นก็ตาม แม้ว่าปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ โดยลดลงจาก 6.2% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 3.5% ในปี 2554 และ 3.4% ในเดือนมิถุนายน 2555

ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 5.0% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 โดยลดลงจาก 6.0% ในปี 2554 ธนาคารให้สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง สินเชื่อด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังคงอยู่ในระดับสูงคิดเป็น 10.7% ณ เดือนมิถุนายน 2555

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังดำรงเงินกองทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยสัดส่วนของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเทียบกับเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ดีขึ้นจาก 0.61 เท่าในปี 2552 เป็น 0.41 เท่าในปี 2554 และ 0.39 เท่าในเดือนมิถุนายน 2555 นอกจากนี้ อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังเพิ่มขึ้นจาก 69.7% ในปี 2552 เป็น 85.1% ในปี 2553 และ 106.9% ในเดือนมิถุนายน 2555 อีกด้วย

ธนาคารสามารถสร้างรายได้และดำรงผลตอบแทนในระดับสูงจากธุรกิจหลัก อีกทั้งสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินของธนาคารสูงขึ้นในปี 2554 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2555 นอกจากนี้ ธนาคารยังตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย

ทั้งนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิปี 2554 จำนวน 2,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเท่ากับ 1.7% และ12.3% ตามลำดับในปี 2554 ลดลงจาก 2.1% และ 14.2% ในปี 2553 ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับงวดหกเดือนแรกของปี 2555 จำนวน 1,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ธนาคารได้รับผลกระทบจากค่าธรรมเนียมใหม่ที่คำนวณจากฐานเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งจะต้องนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อชำระคืนภาระหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อันจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นและกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

ส่วนของสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนนั้น KK มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งอันเกิดจากความไม่สัมพันธ์กันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน ประกอบกับธนาคารยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ซึ่งอาจมีความผันผวนได้ง่าย ณ เดือนมิถุนายน 2555 แหล่งเงินทุนของธนาคารประกอบด้วยตั๋วแลกเงินซึ่งคิดเป็น 31% ของเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงิน เงินฝากประจำ 51% และเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (18%)

อย่างไรก็ดี ธนาคารมีแผนที่จะเพิ่มฐานบัญชีเงินรับฝากจากลูกค้ารายย่อยเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 13.3% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ระดับ 14.0% ณ เดือนมิถุนายน 2555 สำหรับอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมนั้นลดลงเล็กน้อยจาก 12.8% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 11.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อันเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ ธนาคารมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการที่อยู่อาศัย การดำรงเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้อย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับความเสียหายที่มิอาจคาดการณ์ได้จากภาวะถดถอยในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ