ทริสให้เครดิตหุ้นกู้ TBANK ที่ AA-, A+ และ A

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 3, 2012 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของ ธนาคารธนชาต (TBANK) ที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “AA-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “AA-", “A+" และ “A" ตามลำดับด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังการซื้อกิจการและความสำเร็จในการควบรวมกิจการกับ ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และกระจายตัวมากกว่า อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถในการบริหารธุรกิจหลัก อันได้แก่สินเชื่อเช่าซื้อ ตลอดจนเครือข่ายธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และกลยุทธ์ที่เอื้อต่อการเพิ่มความแข็งแกร่งในการผสานธุรกิจของกลุ่มธนชาต

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของพันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากประเทศแคนาดา คือ Bank of Nova Scotia (BNS) ซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 49% อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของธนาคารถูกลดทอนลงจากการมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Assets - NPAs) ในระดับสูง ตลอดจนการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงทั้งในธุรกิจธนาคารและธุรกิจหลักทรัพย์ นอกจากนี้ การเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของกลุ่มธนชาตอาจถูกจำกัดด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของทั้งสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก

อันดับเครดิต “A" ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารธนชาต (TBANK197A และ TBANK247A) สะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสะสมผลตอบแทน ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และ 2567

ธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้คืนทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดได้ภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ประเภทนี้ในกรณีที่ธนาคารมีผลขาดทุนในรอบบัญชีก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ยและธนาคารไม่มีการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลา 6 เดือนก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม จำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนดอกเบี้ยสะสม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนบทบาทสำคัญของธนาคารธนชาตในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มธนชาต โดยคาดว่าธนาคารจะมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการผสานพลังภายหลังการควบรวมกิจการ อีกทั้งจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ รายได้ที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ การบรรลุวิธีแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 6 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 โดยมีส่วนแบ่งตลาดของสินเชื่อที่ 7.9% และเงินรับฝากที่ 6.8% ธนาคารเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 26% ด้วยยอดสินเชื่อ 328 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2555 (รวมสินเชื่อของ บมจ.ทุนธนชาต(TCAP) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)

ธนาคารได้รับโอนกิจการธนาคารนครหลวงไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ส่งผลให้มีสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในสินเชื่อธุรกิจ อีกทั้งมีการกระจายตัวของสินเชื่อไปสู่ธุรกิจทุกภาคส่วน และลดการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อธุรกิจ ณ เดือนมิถุนายน 2555 คิดเป็น 36% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2552 ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 64% ลดลงจาก 78% เมื่อสิ้นปี 2552

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ประโยชน์จากฐานลูกค้าเงินฝากและเครือข่ายสาขาจำนวนมากของธนาคารนครหลวงไทยซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตและสนับสนุนการให้บริการทางการเงินในกลุ่มธนชาตผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจ (Franchise Value) ของธนาคารจะแข็งแกร่งขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอการพิสูจน์ถึงความสำเร็จในการได้รับประโยชน์จากการผสานธุรกิจภายในกลุ่มต่อไป

ฐานะการเงินของธนาคารปี 2553 ดีขึ้นหลังการควบรวมกิจการ โดยมีกำไรสุทธิรวม 8.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 116% จากปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Asset - ROAA) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (Return on Average Equity - ROAE) ปี 2553 เท่ากับ 1.34% และ 17.51% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ระดับ 1.00% และ 16.48% ผลประกอบการในปี 2554 และงวดครึ่งปีแรกของปี 2555 ลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งในช่วงเวลาภายหลังการรวมธุรกิจ

กำไรสุทธิปี 2554 มีจำนวน 7.7 พันล้านบาท ลดลง 13% จากปีก่อน ROAA และ ROAE ลดลงมาที่ระดับ 0.87% และ 10.37% ตามลำดับ ธนาคารมีกำไรสุทธิงวดหกเดือนแรกของปี 2555 จำนวน 3.9 พันล้านบาท ลดลง 15% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ROAA และ ROAE (ยังไม่ได้ปรับเป็นรายปี) อยู่ที่ระดับ 0.43% และ 5.03% ตามลำดับ ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 0.53% และ 6.29% โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลประกอบการของธนาคารจะดีขึ้นเป็นลำดับในระยะกลางภายหลังกระบวนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จสมบูรณ์

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารธนชาตมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-performing Loans - NPLs) และ NPAs (สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) เพิ่มขึ้นหลังการรวมกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจที่รับโอนมาจากธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารใช้ความพยายามในการแก้ไข NPLs ให้ดีขึ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 NPLs ของธนาคารคิดเป็น 5.04% ของเงินให้สินเชื่อรวม ลดลงจาก 6.06% ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังอาจมี NPLs เพิ่มขึ้นได้อันเป็นผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2554 ทั้งนี้ ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงหลังการควบรวมกิจการยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

ธนาคารธนชาตมีแหล่งเงินทุนที่กระจายตัวดีขึ้นและมีโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่สอดคล้องกันมากขึ้นหลังการควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของธนาคารลดลงจากการเติบโตของสินเชื่อที่สูงกว่าการขยายตัวของแหล่งเงินทุน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 90.4% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 97.3% ในปี 2554 และ 101.0% ณ เดือนมิถุนายน 2555 ฐานเงินทุนแข็งแกร่งขึ้นหลังการเพิ่มทุนในปี 2553 จำนวน 35.8 พันล้านบาท โดย TCAP และ BNS ส่งผลให้อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 6.4% ในปี 2552 เป็น 8.3% ในปี 2553 และ 8.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวม ณ เดือนมิถุนายน 2555 เท่ากับ 9.06% และ 13.32% ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่ระดับ 10.39% และ 14.84% แต่ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.25% และ 8.50% ตามลำดับ นอกจากนี้ ธนาคารมีเงินกองทุนและสำรองหนี้สูญเพื่อใช้รองรับความเสียหายจากหนี้เสียน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของระบบธนาคาร โดยมี NPAs คิดเป็น 0.7 เท่าของเงินกองทุนรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.5 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ