นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บมจ. ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรม (TMC) จะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ โดย TMC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรระบบไฮดรอลิค โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะช่วยให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและสร้างการเติบโตสะท้อนภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก
TMC เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิคคุณภาพสูง เช่น เครื่องเพรสไฮดรอลิค เครนระบบไฮดรอลิค เครื่องทุ่นแรงระบบไฮดรอลิค เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทผู้ประกอบยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า
บริษัทมีทุนชำระแล้ว 290 ล้านบาท มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 200 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น บริษัทฯ เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 85 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.90 บาท และเสนอขายหุ้นแก่พนักงานของบริษัทจำนวน 5 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.12 บาท เมื่อวันที่ 17-19 ตุลาคม 2555 คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 347.10 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจและชำระคืนเงินกู้ โดยมีบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.ฟินันเซียไซรัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข กรรมการผู้จัดการ TMC กล่าวว่า บริษัทจะระดมทุนครั้งนี้ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ใช้คืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของบริษัทให้เติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ TMC
หลัง IPO ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TMC 3 รายแรก ได้แก่ กลุ่มกมลมงคลสุข ถือหุ้น 57.55% ครอบครัวก่อเกิดเกียรติ ถือหุ้น 3.79% และครอบครัวคงวัฒนา ถือหุ้น 2.10%
ราคา IPO ของ TMC ในราคาหุ้นละ 3.90 บาท ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) 13.74 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้น 4 ไตรมาสที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2554 — 30 มิถุนายน 2555 หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ซึ่งเท่ากับ 290 ล้านหุ้น คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.28 บาท บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และสำรองต่างๆ ทั้งหมด