ทริสฯ คงเครดิตองค์รกร BCH ที่ "A-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 7, 2012 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในกลุ่มคนไข้รายได้ระดับปานกลางถึงระดับต่ำกว่า ตลอดจนฐานรายได้ที่หลากหลาย คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการรักษาพยาบาล ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสุขภาพภาครัฐ รวมทั้งความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจของบริษัท

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางและลูกค้าโครงการสุขภาพภาครัฐเอาไว้ได้ รวมทั้งสามารถดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลใหม่คือ WMC ได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ควรดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังสำหรับการลงทุนในอนาคตด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทถือว่ามีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการเปิดดำเนินการโรงพยาบาลแห่งใหม่และการลงทุนในอนาคตได้พอสมควร

BCH เป็นเจ้าของและบริหารกิจการโรงพยาบาลจำนวน 6 แห่งภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลเกษมราษฎร์" โดย 4 แห่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ในจังหวัดเชียงรายและสระบุรี หลังจากตัดสินใจออกจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2553 บริษัทมีรายได้จากลูกค้า 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนไข้เงินสดและกลุ่มคนไข้โครงการประกันสังคม โดยในปี 2554 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนไข้เงินสดอยู่ที่ 70% และกลุ่มคนไข้โครงการประกันสังคม 30%

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสุขภาพภาครัฐ โดยในระยะกว่า 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนจำนวนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคมในเขตกรุงเทพฯ ประมาณ 9%-11% การมีฐานจำนวนผู้ประกันตนจำนวนมากช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด ในขณะที่ลักษณะของธุรกิจที่มีรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่ผลประกอบการ

นอกจากนี้ การเข้าร่วมโครงการสุขภาพภาครัฐยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการมีรายได้ที่สม่ำเสมอ และยังช่วยคงระดับการใช้งานเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูงไม่ให้ต่ำเกินไปด้วย ความพยายามของบริษัทในการควบคุมค่าใช้จ่ายบังเกิดผลที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยเห็นได้จากอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเดือนมกราคม 2555 มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในของระบบประกันสังคม โดยการเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับโรคที่มีความซับซ้อนจะอิงกับอัตราความรุนแรงของโรค ซึ่งวิธีการเบิกจ่ายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อบริษัทในแง่ของรายได้ค่ารักษาที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโอกาสที่จะได้รับคนไข้ส่งต่อที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสุขภาพของไทยยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและมีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกหลายระยะในอนาคตอันใกล้ บริษัทจึงมีความเสี่ยงสูงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงการประกันสุขภาพ กระนั้น ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าผู้บริหารของบริษัทสามารถที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐเพื่อที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ให้ได้

บริษัทเลื่อนการเปิดโรงพยาบาลแห่งที่ 7 ภายใต้แบรนด์ “The World Medical Center" (WMC) ออกไปเป็นไตรมาสแรกของปี 2556 จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดในกลางปี 2555 ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า WMC เน้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงในพื้นที่แจ้งวัฒนะซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการขยายตัวรวดเร็ว โดยจะเปิดให้บริการ 150 เตียงในปีแรก ก่อนที่จะทยอยเปิดเพิ่มจนเต็มจำนวน 320 เตียงภายในปี 2559

อย่างไรก็ตาม บริษัทเผชิญกับความท้าทายในการที่จะขยายไปสู่ตลาดลูกค้ารายได้สูง ทั้งนี้ สถานะของบริษัทในตลาดลูกค้ารายได้สูงถือว่ายังไม่มีศักยภาพเท่าเทียมกับธุรกิจในปัจจุบันเนื่องจากบริษัทยังมีข้อจำกัดในด้านผลงานและชื่อเสียงที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมาย

บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและดีกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมแม้จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 โดยโรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแคและเกษมราษฎร์รัตนาธิเบศร์ถูกน้ำท่วมนานถึง 1 และ 2 เดือนตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทมีสัญญาประกันคุ้มครองความเสียหายเฉพาะในส่วนของทรัพย์สินแต่ไม่มีสัญญาคุ้มครองความเสียหายจากธุรกิจที่ต้องหยุดชั่วคราว ผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งการออกจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้รายได้รวมของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ลดลง 10.7% เหลือ 3,903 ล้านบาทในปี 2554

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 กลุ่มลูกค้าเงินสดเติบโตขึ้นจนกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายของระบบประกันสังคมด้วย ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เติบโตขึ้นเป็น 3,291 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการทำกำไรของบริษัทดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากบริษัทออกจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอัตรากำไรต่ำ โดยกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2553 เป็น 32.3% ในปี 2554 และ 34.6% สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2555

บริษัทมีงบดุลที่แข็งแกร่งแม้จะมีอัตราส่วนเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 23.9% ในปี 2554 เป็น 32.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 เนื่องจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในโครงการ WMC ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้ของบริษัทยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตจากการขยายลงทุนที่เชียงรายและสุขาภิบาล 3 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความสามารถในการชำระหนี้ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมสูงถึง 45.24% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) อีกทั้งยังมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่สูงถึง 28.99 เท่า

การเปิดโรงพยาบาล WMC อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทในอนาคตข้างหน้าเนื่องจากบริษัทต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายในระยะแรกของการดำเนินการของโรงพยาบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทจะช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในระยะแรกของโรงพยาบาลใหม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ