นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้เศรษฐกิจยุโรปยังอ่อนแอต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจเอเชียเติบโตได้ดี ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมการบินในไตรมาส 1 ยังคงมีการเติบโต เนื่องจากการเติบโตของการขนส่งผู้โดยสารและเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ
อย่างไรก็ตาม ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศของสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญ และกลุ่มประเทศยุโรป (Eurozone) ซึ่งเป็นตลาดหลัก ในการนำเข้าสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ซึ่งธุรกิจการบินยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทฯ จึงได้ดำเนินตามกลยุทธ์ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้มีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่จดจำของลูกค้า สามารถสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม และเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในระยะยาวโดยการเป็นกลุ่มธุรกิจการบินชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย
ในไตรมาส 1 ปี 2556 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของฝูงบินอย่างต่อเนื่องด้วยการรับเครื่องบินใหม่ 5 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 79.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 78.2
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจองค์กร (Corporate Portfolio Strategy) ในส่วนของกลุ่มธุรกิจสายการบิน (Airline Portfolio) ต่อเนื่อง โดยได้ขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศของการบินไทยสมายล์เพิ่มขึ้นได้แก่ กรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ กรุงเทพฯ-อาห์เมดาบัด ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2556 และมีแผนที่จะเปิดเส้นทางภูเก็ต-นิวเดลี ภูเก็ต-มุมไบ และภูเก็ต-กัวลาลัมเปอร์ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2556 เป็นต้นไปอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงขององค์กร โดยการจัดทำประกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในเชิงรุก เพื่อให้ราคาน้ำมัน อยู่ในกรอบที่ประมาณการไว้ การบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยจัดให้รายจ่ายเป็นสกุลเดียวกับรายได้ให้มากที่สุด (Natural Hedging) อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในไตรมาส 1 ของปี 2556 บริษัทฯ มีนโยบายขยายสัดส่วนรายได้ที่เป็นเงินบาทเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างสมดุล และลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอีกทางหนึ่ง รวมทั้งพิจารณาการกู้เงินพร้อมกับปรับโครงสร้างเงินกู้ให้มีสกุลเงินสอดคล้องกับเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน
ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 6,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,602 ล้านบาท เป็นผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 8,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,054 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.3 เป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 8,283 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 3.79 บาท เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนซึ่งมีกำไรต่อหุ้น 2.39 บาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิต่อรายได้จากการขายและการให้บริการร้อยละ 14.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 9.7
กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ (EBITDAR) เท่ากับ 10,266 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 700 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 โดยมี EBITDAR Margin ร้อยละ 18.3 ลดลงจากปีก่อนที่เท่ากับร้อยละ 20.3
ในไตรมาส 1 ปี 56 บริษัทมีรายได้(ไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ)รวม 57,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,053 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 307,657 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 3,561 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 โดยมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) เท่ากับร้อยละ 3.09 สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หนี้สินรวมเท่ากับ 230,261 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 4,017 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 77,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 7,578 ล้านบาท ส่งผลให้ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 2.02 เท่า ลดลงจาก 2.27 เท่า ณ สิ้นปี 2555 และมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 8.0 ในไตรมาส 1 ปี 2555 เป็นร้อยละ 11.3 ในไตรมาสนี้