ทั้งนี้ปริมาณสำรองดังกล่าวประเมินโดยผู้ประเมินอิสระและมีใบอนุญาตในการออกรายงาน JORC (“Joint Ore Reserves Committee")
นายขจรพงศ์ กล่าวว่า "JMM" อยู่ระหว่างเปลี่ยนใบอนุญาตสัมปทานจาก IUP Exploration เป็น IUP Production Operation และขอใบอนุญาตประเภท Forest Land Borrow-to-Use Permit โดยใบอนุญาตสัมปทานมีอายุสัมปทาน 5 ปี ต่ออายุคราวละ 5 ปี ซึ่งเหมืองที่ "TTP" ซื้อสิทธิในการขุดเจาะถ่านหินจาก "JMM" ได้มีการสำรวจข้อมูลจากผู้ประเมินอิสระเพื่อจัดทำรายงาน(Joint Ore Reserves Committee:JORC) เรื่องปริมาณสำรองถ่านหินเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดหน้าดินได้ในช่วงไตรมาส 2/2557 เริ่มขุดถ่านหินจำหน่ายได้ในไตรมาส 4/2557 และทยอยรับรู้รายได้เข้ามาทันที
"TTP ยืมเงินจาก EARTH ซึ่งนำมาจากกำไรสะสมของบริษัทไปชำระเป็นเงินสดให้กับ JMM ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงของธุรกิจถ่านหิน โดยการเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหิน (Mining) ที่มีปริมาณสำรองของถ่านหินในปริมาณค่อนข้างสูง ถือเป็นการลดความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวของบริษัท อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ในอนาคต เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเอง รวมถึงทำให้อัตรากำไรสุทธิดีขึ้น "นายขจรพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เหมืองแห่งใหม่นี้ถือเป็นเหมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของบริษัทที่มีปริมาณสำรองถ่านหิน 43 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในแผนขยายธุรกิจ 5 ปี 5 เหมือง 5 ประเทศของบริษัทที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังคงหาแหล่งถ่านหินสำรองเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ผลประโยชน์ที่เกิดจากการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นคงของธุรกิจถ่านหินโดยการเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหิน (Mining) ที่มีปริมาณสำรองของถ่านหินในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งจะเป็นลดความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวต่อบริษัท
อีกทั้งช่วยเพิ่มรายได้ในระยะยาวเนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเองรวมถึงทำให้อัตรากำไรสุทธิดีขึ้นและช่วยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ในระยะยาวสำหรับผู้ถือหุ้น
ขณะที่ คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและศึกษาการเข้าซื้อสิทธิในการขุดถ่านหิน จาก JMM แล้วมีความเห็นว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท เนื่องจากจะทำให้ EARTH มีแหล่งวัตถุดิบถ่านหินเป็นของตนเองในปริมาณสำรองที่เพิ่มมากขึ้นอย่างสูงถึง 43 ล้านตัน โดยใช้เวลาในขุดเจาะเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ถึงจะหมดไป ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวต่อบริษัท
ปัจจุบัน EARTH มีปริมาณสำรองถ่านหิน (Reserve) บนพื้นที่เซาท์กาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซียเหลือประมาณ 3 ล้านตัน และในปี 2557 ปริมาณสำรองถ่านหินในพื้นที่ดังกล่าวจะหมดลง แต่บริษัทยังมีเหมืองถ่านหินที่รัฐทวาย ประเทศพม่าอีกประมาณ 40 ล้านตัน ซึ่งยังเพียงพอที่จะรองรับคำสั่งซื้อได้อีกมาก และเมื่อรวมเหมืองแห่งใหม่ที่ได้มาอีก 43 ล้านตัน รวมแล้วขณะนี้ EARTH ยังมีปริมาณสำรองถ่านหินประมาณ 80 ล้านตัน สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้นานถึง 10 ปี