PTTEP แจงปี 56 กำไรใกล้เคียงปี 55 ปริมาณปิโตรฯสำรองสิ้นปี 846 ล้านบาร์เรลฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 30, 2014 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 2556 ว่า ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิรวม 1,846 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบเท่า 56,155 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2555 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,846 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 57,316 ล้านบาท) โดยเป็นผลมาจากกำไรจากการดำเนินงานตามปกติจำนวน 2,114 ล้านดอลลาร์ สรอ. และขาดทุนจากรายการ Non-Recurring จำนวน 268 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงิน ดอลลาร์ สรอ. ทำให้เกิดภาระภาษีสูงขึ้น ส่งผลให้ในปีนี้มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 16.45

สำหรับปี 2556 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 7,445 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 228,741 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 จำนวน 7,021 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 218,137 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 424 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 6 โดยส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 483 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเป็น 292,629 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายเฉลี่ยในปี 2555 ที่ 275,923 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยส่วนใหญ่มาจากโครงการบงกช โครงการเอส1 โครงการเวียดนาม 16-1 โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย

ประกอบกับ ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสำหรับปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 65.58 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสำหรับปี 2555 ที่ 64.86 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ส่วนค่าใช้จ่ายในปี 2556 รวมทั้งสิ้น 4,090 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 126,065 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 264 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจำนวน 3,826 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 118,846 ล้านบาท)

ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้ว ณ 31 ธันวาคม 2556 ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้วของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 รวมทั้งหมด 846 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นสัดส่วนของน้ำมันดิบและคอนเดนเสทประมาณร้อยละ 30 และก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 70

ความก้าวหน้าที่สำคัญในการดำเนินงานปี 2556 โครงการในประเทศไทย โครงการเอส 1 มีอัตราการผลิตน้ำมันดิบสูงสุดอยู่ที่ 37,890 บาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นสถิติการผลิตน้ำมันดิบที่สูงสุดในรอบ 30 ปีตั้งแต่โครงการเริ่มดำเนินการ ในปี 2556 โครงการมีอัตราการผลิตเฉลี่ยที่ 32,749 บาร์เรลต่อวัน โครงการบงกช สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 920 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และอัตราการผลิตคอนเดนเสทเฉลี่ยอยู่ที่ 32,486 บาร์เรลต่อวัน

โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการซอติก้า จะสามารถเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสแรกปี 2557 โครงการเวียดนาม 16-1 ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมประเมินผลในบริเวณ H5 ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของแหล่งเทจั๊กจั๋ง และได้เตรียมดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตเพื่อรองรับการผลิตซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2558 และยังประสบความสำเร็จในการทดสอบการผลิตของ FPSO (Floating Production Storage and Offloading Unit) ที่ระดับการผลิตน้ำมันดิบ 60,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้สามารถรักษากำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ปริมาณเดิมที่ประมาณ 43,000 บาร์เรลต่อวัน

โครงการในออสตราเลเชีย โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ได้เริ่มผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง มอนทาราเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 และได้จำหน่ายน้ำมันดิบครั้งแรกประมาณ 500,000 บาร์เรลในเดือนสิงหาคม 2556 โครงการมีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตจากหลุมผลิตเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้ถึงประมาณ 25,000-30,000 บาร์เรลต่อวันในครึ่งแรกของปี 2557

โครงการในอเมริกาเหนือ โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี เสร็จสิ้น Winter Evaluation Program ประจำปี 2555-2556 เพื่อประเมินปริมาณบิทูเมนและวางแผนการผลิตสำหรับแหล่ง Leismer, Corner และ Thornbury สำหรับแหล่ง Leismer ในปี 2556 มีอัตราการผลิตบิทูเมนเฉลี่ยอยู่ที่ 14,800 บาร์เรลต่อวัน

โครงการในแอฟริกาและตะวันออกกลาง โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี อยู่ระหว่างการก่อสร้างกระบวนการผลิตและระบบท่อขนส่ง งานก่อสร้างที่พักอาศัย และสาธารณูปโภค โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ภายในปลายปี 2557 โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคส ได้ดำเนินการเจาะหลุมสำรวจระยะแรกเสร็จสิ้นครบ 9 หลุม ค้นพบน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 8 หลุม ขณะนี้อยู่ในระยะเวลาการสำรวจช่วงที่ 2 โดยมีแผนที่จะทำการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนและเจาะหลุมประเมินผลในไตรมาสแรกของปี 2557

โครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน เจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลรวมทั้งสิ้นจำนวน 10 หลุม ค้นพบก๊าซธรรมชาติจำนวน 6 หลุม จาก Orca-1, Espadarte-1, Atum-3, Golfinho-5, Golfinho-6 และ Manta-1 ในปี 2557 โครงการมีแผนที่ในการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลอย่างต่อเนื่องอีก 8 หลุมเพื่อค้นหาและประเมินศักยภาพเพิ่มเติม และดำเนินการตามแผนการพัฒนาทางวิศวกรรมพื้นที่ก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Engineering and Construction Development) และคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตและขาย LNG ครั้งแรกในปลายปี 2561 หรือปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ