ทั้งนี้ ความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินเกี่ยวกับความเหมาะสมในการทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ ว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวนี้ จะช่วยทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้และกำไรจากการดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ทันที เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีรายได้และผลการดำเนินงานที่ดีและมั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความประหยัดเนื่องจากขนาด (Economies of Scale) เนื่องจากสามารถที่จะใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกันกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ RSUN ขนาด 3.12 เมกะวัตต์ ที่บริษัทได้เข้าลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การเข้าทำรายการนี้ จะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทภายหลังการเข้าทำรายการ ซึ่งจะอยู่ที่ 0.49 เท่าแล้ว (อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนก่อนเข้าทำรายการอยู่ที่ 0.26 เท่า) อัตราส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนอื่นที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ บริษัทอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้การรับประกันคุณภาพของแผงโซล่าร์ที่ผู้ผลิตแผงโซล่าร์เซลล์รายหนึ่งจากทั้งหมด 4 ราย เนื่องจากผู้ผลิตรายดังกล่าวประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดภาระด้านค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อแผงโซล่าร์เซลล์ในอนาคตได้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ Pro One ไม่ได้รับการสนับสนุนส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) แล้ว Pro One จะมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน โดยผลขาดทุนดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้ Pro One ไม่สามารถดำเนินการจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเข้าทำรายการแล้ว Pro One จะมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยบริษัทจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ ร้อยละ 100.00 ซึ่งบริษัทอาจพิจารณาทำการกู้ยืมเงินจากกระแสเงินสดจากการดำเนินการของ Pro One ทดแทนการจ่ายเงินปันผลโดยการกู้ยืมดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่องบการเงินรวมของบริษัท เนื่องจาก Pro One มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
อนึ่ง ผลขาดทุนดังกล่าวอาจส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานในงบการเงินรวมขาดทุนโดยหากบริษัทไม่มีการจัดหาธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพในการทำกำไรเข้ามาดำเนินการในช่วงที่ Pro One ไม่ได้รับการสนับสนุนส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า(Adder) แล้ว อาจจะส่งผลให้บริษัทไม่สามารถที่จะจ่ายเงินปันผลได้
แม้ว่าจะมีข้อดีและประโยชน์จากการเข้าทำรายการ แต่หากพิจารณาถึงเงื่อนไขในการชำระเงินค่าหุ้นของ Pro One นั้นมีความไม่เป็นธรรมกับบริษัท เนื่องจากบริษัทได้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขายแล้ว จำนวน 3 งวด คิดเป็นเงิน จำนวน 252.00 ล้านบาท จากทั้งหมด 325.30 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 77.47 ของจำนวนเงินค่าหุ้นทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเงื่อนไขในการทำสัญญาจะซื้อจะขายปกติ และยังก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสจากเงินจำนวนดังกล่าวอีกด้วย
และ หากพิจารณาถึงราคาได้มาซึ่งหุ้นสามัญของ Pro One แล้วพบว่า ราคาได้มาซึ่งหุ้นสามัญของ Pro One นั้นมีมูลค่าสูงกว่าราคาที่เหมาะสมที่ประเมินได้ โดยราคาที่เหมาะสมเท่ากับ 234.99 ถึง 272.92 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาได้มาที่ 325.30 ล้านบาท จะเห็นว่าราคาที่เหมาะสมต่ำกว่าราคาได้มาเท่ากับ 52.37 ถึง 90.30 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 16.10 ถึง ร้อยละ 27.76
ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเห็นว่าราคาได้มาซึ่งหุ้นของ Pro One ในการเข้าทำรายการในครั้งนี้ ทำให้เกิดความไม่เหมาะสมในการเข้าลงทุนในหุ้นของ Pro One เนื่องจากมีราคาได้มาซึ่งหุ้นของ Pro One ที่สูงกว่าราคาที่เหมาะสมตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ดังนั้น ผู้ถือหุ้นควรลงมติไม่อนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้บริษัทเข้าทำรายการดังกล่าว ผู้ถือหุ้นสามารถพิจารณาจากข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ตามที่ที่ปรึกษาทางการเงินได้นำเสนอไว้ ซึ่งการตัดสินใจอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้บริษัทเข้าทำรายการดังกล่าวขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ โดยบริษัทได้จัดให้มีกำรประชุมสำมัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2557 บริษัทและผู้จะขายได้กำหนดวันเข้าทำรายการให้ไม่เกินวันที่ 1 พฤษภาคม 2557