IRPC เผยกำไร Q1/57 โต 125% YoY เหตุ GIM เพิ่มจากกำไรเฮดจิ้ง-ปรับประสิทธิภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 6, 2014 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไออาร์พีซี เปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1/57 ของบริษัทและบริษัทย่อยว่า มี EBITDA จำนวน 1,868 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/56 ที่ 1,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 603 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 และเทียบกับไตรมาส 4/56 ที่ 2,396 ล้านบาท ลดลง 528 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 22 โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 344 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/56 ที่มีกำไรสุทธิ 153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 191 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 125 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/56 ที่มีกำไรสุทธิ 784 ล้านบาท ลดลง 440 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 56

เนื่องจากบริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิสำหรับไตรมาส 1/57 จำนวน 71,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/56 จำนวน 2,890 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ขณะที่ปริมาณขายรวมอยู่ที่ 16.70 ล้านบาร์เรล หรือ 186 พันบาร์เรลต่อวัน ลดลงจาก 17.05 ล้านบาร์เรล หรือ 189 พันบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 1/56 หรือลดลงร้อยละ 2 และเทียบกับไตรมาส 4/56 ลดลง 2,915 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4 เป็นผลจากราคาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ขณะที่ปริมาณขายรวมลดลงร้อยละ 6 โดยปริมาณขายของไตรมาส 4/56 อยู่ที่ 17.82 ล้านบาร์เรล หรือ 194 พันบาร์เรลต่อวัน สาเหตุหลักจากบริษัทฯ หยุดซ่อมบำรุงโรงงานตามแผนเป็นเวลา 14-23 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.57

ส่วนกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) สำหรับไตรมาส 1/57 อยู่ที่ 7.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับไตรมาส 1/56 ที่ 7.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปัจจัยหลักๆ ดังนี้ (1) ราคาตลาดที่อิงตามตลาดโลกลดลงทำให้ GIM ลดลง 0.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (2) การใช้น้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 23 พันบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณการกลั่นทั้งหมด ขณะที่ไตรมาส 1/2556 ใช้น้ำมันดิบในประเทศอยู่ที่ 5 พันบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 3 ทำให้ GIM เพิ่มขึ้น 0.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (3) ผลตอบแทนจากโครงการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำให้ GIM เพิ่มขึ้น 0.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ การบริหารความเสี่ยงทำให้ไตรมาสนี้มีกำไรจาก Oil Hedging จำนวน 580 ล้านบาท (1.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) และราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 207 ล้านบาท (0.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) และค่าเผื่อการลดลงของสินค้าคงเหลือ (LCM) 21 ล้านบาท (0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) รวม 8.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/56 ที่ 7.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยไตรมาส 1/56 มีขาดทุนจากสต๊อคน้ำมัน 350 ล้านบาท (0.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) และ LCM จำนวน 122 ล้านบาท (0.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ขณะที่มีกำไรจาก Oil Hedging จำนวน 312 ล้านบาท (0.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เทียบกับไตรมาส 4/56 ที่มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 6.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ สาเหตุหลักจากสภาพตลาดที่ดีขึ้นต่อเนื่องทำให้ GIM เพิ่มขึ้น 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล การใช้น้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 19 พันบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 4/56 เป็น 223 พันบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ทำให้ GIM เพิ่มขึ้น 0.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และผลตอบแทนจากโครงการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำให้ GIM เพิ่มขึ้น 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) ลดลง 0.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากมีขาดทุนจากสต๊อคน้ำมันเพิ่มขึ้น 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ LCM เพิ่มขึ้น 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีกำไรจาก Oil Hedging ลดลง 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ