ในการเข้าซื้อหุ้นของ WCIG ในครั้งนี้ บริษัทจะร่วมกับผู้ร่วมลงทุนรายอื่นที่สนใจเข้าถือหุ้นใน WCIG (ผู้ร่วมลงทุนรายอื่น) ผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่(บริษัทย่อย)เพื่อถือหุ้นใน WCIG โดยบริษัทจะเข้าถือหุ้นในบริษัทย่อยในสัดส่วนร้อยละ 60 และผู้ร่วมทุนรายอื่นจะถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 40 โดยบริษัทจะมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ร่วมทุนรายอื่น ได้แก่ นายพลภัทร จันทร์วิเมลือง ถือร้อยละ 8 นายวุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช ถือร้อยละ 8 และ นายณกรณ์ กรณ์หิรัญ ถือสัดส่วนร้อยละ 9 ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง WCIG และ อีกแห่งคือ กองทุนซึ่งจัดตั้งและบริหารโดย Solaris Asset Management Company Limited ถือสัดส่วนร้อยละ 15
กำหนดจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอุนมัติการเข้าซื้อดังกล่าวในวันที่ 22 ตุลาคม 2557 โดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน โดยไม่นับส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย โดยกำหนดวันที่ในการกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2557 (Record Date) ในวันที่ 29 กันยายน 2557 และกำหนดวันรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นตามมาตรา 225 ของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนและพักการโอนหุ้นในว้นที่ 30 กันยายน 2557
นายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EFORL เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนใน บริษัท วุฒิศักดิ์คลินิกอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG) บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมกัน ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่ผู้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปจนถึงผู้เข้ารับบริการเสริมความงาม ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทด้วยการประสานงาน และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้และอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในระยะยาว
“การได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทในครั้งนี้จะช่วยให้ธุรกิจของ EFORL ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพและความงาม โดยธุรกิจหลักยังคงเป็นการนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และขณะนี้ธุรกิจด้านความงามก็จะมาจาก That’so ซึ่งเป็นเครื่องสำอางค์และเครื่องมือที่มีนวัตกรรม จากอิตาลีที่ทำให้เกิดความสวยงามโดยปราศจากความเจ็บปวดที่แตกต่างจากการศัลยกรรม โดยธุรกิจนี้จะเติบโตควบคู่ไปกับการลงทุนใน WCIG ได้อย่างลงตัว และเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตไปยังภูมิอาเซียนได้ในอนาคต" นายธีรวุทธิ์ กล่าว
อนึ่ง WCIG ประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทคลินิกเวชกรรมไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน โดยเน้นให้บริการคำปรึกษาและตรวจรักษาปัญหาด้านผิวพรรณและลดกระชับสัดส่วนภายใต้ชื่อ “วุฒิศักดิ์คลินิก" มีสาขารวม 120 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการในลักษณะ Franchise ในประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนม่าร์ รวม 11 สาขา
นายธีรวุทธิ์ กล่าวว่า บริษัทย่อยที่จะไปลงทุนซื้อ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัดนั้น จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วรวมส่วนเกินทุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทถือหุ้นร้อยละ 60 ต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 1,500 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้บริษัทจะกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน และ/หรือ ดำเนินการอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น EFORL ในปัจจุบันเลย เนื่องจาก EFORL เป็นบริษัทที่ไม่มีภาระหนี้สิน และอยู่ในข่ายที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนได้
ดังนั้น จึงเป็นนวัตกรรมการซื้อขายกิจการรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยสำหรับตลาดทุนไทย ที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบ Dilution Effect ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และยังเป็นผลดีทำให้ EFORL ได้ธุรกิจเข้ามาเพิ่มเป็นการสร้างการเติบโต สร้างความแข็งแกร่งให้แก่บริษัท ทั้งในด้านทรัพย์สินและรายได้ตลอดจนการรุกเข้าสู่ธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง
บริษัทย่อยจะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในสัดส่วน 100% จากผู้ถือหุ้นเดิมของ WCIG โดยจำนวนเงินที่ใช้สำหรับการเข้าซื้อหุ้น WCIG ทั้งหมด จำนวนรวม 153,395 หุ้น รวมเป็นเงิน ประมาณ 3,500 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทย่อยจะให้ WCIG กู้ยืมเงิน ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ WCIG นำไปจ่าย ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมทั้งหมดให้แก่ Wise Thai Company Limited ซึ่งทั้งหมดรวมประมาณ 4,500 ล้านบาท
สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนในการดำเนินการครั้งนี้ บริษัทย่อยจะใช้แหล่งเงินมาจากส่วนของทุนและจากการกู้ยืมเงิน โดยในส่วนของทุนบริษัทจะร่วมลงทุนกับผู้ร่วมลงทุนรายอื่น ด้วยเงินทุนชำระรวมส่วนเกินทุนจำนวน 2,500 ล้านบาทดังที่กล่าวในข้างต้น นอกจากนี้ บริษัทย่อยจะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในประเทศเป็นจำนวนเงินรวม 2,000 ล้านบาท