1.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฏข้อมูลว่าประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558
บริษัทขอชี้แจงว่า ตามที่ปรากฏข้อมูลว่าประธานในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ของบริษัทซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 29 เม.ย.58 (ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ) ไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมนั้นเป็นกรณีที่นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ประธานกรรมการของบริษัท (ประธานฯ) มีข้อสงสัยอันสมควรจากข่าวที่ปรากฏแพร่หลายว่ามีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งได้เข้าถือหุ้นของบริษัทโดยมีเจตนาที่จะร่วมกันเข้าครอบงำกิจการของบริษัท โดยที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการครอบงำกิจการซึ่งเป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมของบริษัท
ดังนั้น ประธานฯ จึงได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) (พรบ.บริษัทมหาชนฯ) มาตรา 104 และ105 และ และข้อบังคับของบริษัทข้อ 34 และ 35 ในฐานะประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้กลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าร่วมประชุมในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯซึ่งกลุ่มบุคคลข้างต้นเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าถือหุ้นของบริษัทเมื่อไม่นานมานี้ดังมีรายชื่อและรายละเอียดการถือหุ้นของกลุ่มบุคคลข้างต้นตามที่ปรากฏในเอกสารแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ (ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่)
นอกจากนี้ ตามที่ปรากฏข่าวแพร่หลายในทำนองเดียวกันว่ามีการโต้แย้งโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ว่านายสุทธิชัย แซ่หยุ่น และนายเสริมสิน สมะลาภาซึ่งต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในจำนวนที่มีนัยสำคัญได้ร่วมกันถือหุ้นของบริษัทโดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการครอบงำกิจการเช่นกัน ประธานฯจึงไม่อนุญาตให้นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น และนายเสริมสิน สมะลาภาออกเสียงลงคะแนนในทุกวาระในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ดังกล่าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทั้งสองกลุ่มซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งกรรมการในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ ครั้งนี้ ประธานฯ จึงไม่อนุญาตให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯพิจารณาและออกเสียงลงมติในระเบียบวาระที่ 6 เพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทจนกว่าข้อเท็จจริงจะเป็นที่ยุติและมีความชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่ง
2.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงว่าผู้ถือหุ้นบางรายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นที่มีชื่อปรากฏในทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือไม่ อย่างไร
บริษัทขอชี้แจงว่า ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ เป็นบุคคลที่มีชื่อปรากฏในทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 (Record Date) ของบริษัท ซึ่งได้แก่วันที่ 9 เม.ย.58 โดยบริษัทปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันที่ 10 เม.ย.58 โดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ดังกล่าวถือหุ้นทั้งหมดรวมกันเป็นจำนวนกว่า 45% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท
3.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงเหตุผลที่ประธานในที่ประชุมไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายดังกล่าวเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและขอให้ชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องหรือข้อบังคับของบริษัทข้อ ใด หรือไม่ อย่างไร บริษัทขอชี้แจงว่า เหตุผลที่ประธานฯ ได้ใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าร่วมประชุม รวมถึงไม่อนุญาตให้นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น และนายเสริมสิน สมะลาภาออกเสียงลงคะแนนในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ ของบริษัทเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมานั้นเป็นดังที่ประธานฯ ได้ชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ ของบริษัทไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่มีข่าวปรากฏแพร่หลายในสื่อต่างๆ
รวมถึงมีการสอบถามจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับความผิดปกติในการเข้าถือหุ้นของบริษัทโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ซึ่งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองรวมถึงให้ความไว้วางใจโดยมอบฉันทะให้กับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมของบริษัทให้เป็นผู้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนแทนตนเองเป็นจำนวนรวมกันกว่า 900 ราย จึงทำให้ประธานฯ มีข้อสงสัยอันสมควรว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ได้เข้าถือหุ้นของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาโดยมีเจตนาที่จะร่วมกันใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าครอบงำกิจการของบริษัทโดยที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นตามหลักเกณฑ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการครอบงำกิจการ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) และประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (รวมเรียกว่า"หลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ")
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นของบริษัททุกรายให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายใหม่ที่จะเข้าครอบงำกิจการของบริษัทโดยหากปรากฏว่าเป็นจริงตามข้อสงสัยของประธานฯ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งเข้าถือหุ้นในบริษัทเกินกว่า 25% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทย่อมจะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ หรือ Tender offer เพื่อเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัทในราคาสูงสุดที่มีการได้หุ้นนั้นมา (ซึ่งคิดเป็นราคาประมาณ 3 บาทต่อหุ้น) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นของบริษัทได้พิจารณาว่าจะยังคงถือหุ้นในบริษัทต่อไปหรือจะขายหุ้นที่ตนเองถืออยู่หากไม่ประสงค์ที่จะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทภายใต้การควบคุมและการกำหนดทิศทางของบริษัทโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่อีกต่อไป หรือ หากผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ไม่ประสงค์จะทำ Tender offer หรือไม่มีแหล่งเงินทุนเพียงพอที่จะเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ได้ก็จะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นที่ตนเองมีอยู่ให้ต่ำลงกว่า 25% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท ซึ่งในกรณีของการลดสัดส่วนการถือหุ้นนั้น หลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการเองก็ได้กำหนดเงื่อนไขไว้โดยชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงนั้นจะต้องงดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทในส่วนของหุ้นที่จะต้องมีการลดสัดส่วนลงนั้นด้วย
นอกจากข้อสงสัยเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการแล้วประธานฯ ยังพบว่ามีข่าวปรากฏแพร่หลายว่าการที่ บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) (SLC) (ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ของบริษัท) เข้าถือหุ้นของบริษัทนั้นอาจเป็นการไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ฯ รวมถึงขัดแย้งกับหลักเกณฑ์การได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนของสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยของ SLC ร้องเรียนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯว่ารายการเข้าซื้อหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทเข้าข่ายเป็นรายการที่ SLC จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนเข้าทำรายการ ซึ่งปรากฏว่า SLC ยังมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแต่อย่างใด ซึ่งประเด็นข้างต้นล้วนแต่เป็นประเด็นปัญหาในทางกฎหมายซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติและอาจส่งผลให้ SLC ไม่สามารถถือหุ้นของบริษัทต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
จากข้อสงสัยข้างต้น ประธานฯ จึงเชื่อโดยสุจริตว่าหากอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนในการประชุมสามัญประจำปีฯผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ดังกล่าวซึ่งถือหุ้นในจำนวนที่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษทได้นั้นย่อมจะใช้สิทธิออกเสียงเพื่อแต่งตั้งบุคคลที่ตนเองจะเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการใหม่ของบริษัท แทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระ รวมถึงจะเสนอให้มีการแต่งตั้งกรรมการของบริษัทเพิ่มเติมในวาระอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่สามารถเข้าควบคุมกิจการของบริษัทผ่านทางคณะกรรมการบริษัท ซึ่งจะประกอบไปด้วยกรรมการจำนวนข้างมากที่มาจากตัวแทนของกลุ่มตนเองซึ่งหากปรากฏข้อยุติภายหลังว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าถือหุ้นของบริษัทโดยมิชอบด้วยหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ กฎหมายว่าด้วยการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ฯ และ/หรือหลักเกณฑ์การได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน ตามข้อสงสัยของประธานฯ
ในกรณีเช่นนี้หากผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ได้แต่งตั้งตัวแทนของตนเข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทเพื่อเข้าครอบงำและกำหนดทิศทางของบริษัทให้กระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ของตนเองการกระทำดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทและถือเป็นเหตุไม่พึงประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้นเนื่องจากแม้ในเวลาต่อมามีการตัดสินเป็นที่ยุติแล้วว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ได้เข้าถือหุ้นของบริษัทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทลงแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ได้กระทำไปแล้วอาทิ เช่น
การแต่งตั้งกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ย่อมจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้เนื่องจากได้กระทำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วและกระทำไปในนามของบริษัทและไม่มีข้อกฎหมายใดๆ ที่กำหนดให้กรรมการใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามานั้นจะต้องลาออกจากตำแหน่งซึ่งแม้ในทางกฎหมายจะเปิดช่องให้มีการถอดถอนกรรมการได้ก็ตามแต่ในทางปฏิบัติเป็นที่ทราบกันดีว่าการออกเสียงลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการออกจากตำแหน่งมีโอกาสสำเร็จน้อยมาก
หรือในกรณีที่ข้อเท็จจริงยุติว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่จะต้องทำ Tender Offer เพื่อเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมก็ตามแต่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ก็ยังคงมีสิทธิเลือกที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงโดยขายหุ้นของบริษัทที่ตนเองถืออยูออกไปให้ต่ำกว่า 25% เพื่อหลีกเลี่ยงหน้าที่ในการทำ Tender Offer ได้ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดที่ชี้แจงมาข้างต้นย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการขัดแย้งต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมของบริษัทในการใช้อำนาจของประธานฯ นั้น
ประธานฯ ได้ยึดถือหลักที่ว่าหากผู้ถือหุ้นของบริษัทได้หุ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายการใช้สิทธิออกเสียงของหุ้นนั้นก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกันซึ่งอาจเปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับกรณีอื่นที่มีการได้หุ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ และนำมาลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยที่มีข้อเท็จจริงเปิดเผยแพร่หลายจนก่อให้เกิดข้อสงสัยอันสมควรว่าเป็นหุ้นที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหากประธานฯจะยังคงอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมประชุมและใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ตามปกติ โดยอาศัยหุ้นที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญต่อการบริหารจัดการกิจการของบริษัทอันเป็นการกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด และในท้ายที่สุดเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มีการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง การใดๆ ที่ได้กระทำลงไปแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ เช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว
อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งบุคคลใดๆ จะใช้สิทธิของตนอันเกี่ยวกับทรัพย์สินได้โดยชอบก็ต่อเมื่อทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งสิทธินั้นมีการได้มาโดยชอบด้วยเช่นกันและเมื่อมีข้อสงสัยอันสมควรว่าการใช้สิทธิไม่สามารถกระทำได้โดยชอบบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตรับผิดชอบและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้อื่นก็ชอบที่จะให้ระงับการใช้สิทธิดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นจะฟังเป็นที่ยุติ
ประธานฯ ตระหนักเป็นอย่างดีว่าการพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ หรือกฎหมายอื่นๆ หรือไม่ อย่างไรนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องซึ่งในส่วนนี้บริษัทก็ได้มีหนังสือไปยังหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ตรวจสอบว่าผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ รวมถึงผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมมีการเข้าถือหุ้นของบริษัทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการหรือไม่แล้ว และประธานฯ ก็ได้แจ้งในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นว่าจะดำเนินการเร่งรัดให้เรื่องดังกล่าวมีข้อยุติและเกิดความชัดเจนโดยเร็ว
แต่ในระหว่างนี้ซึ่งการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ หากประธานฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมการประชุมผู้ถือหุ้นตามกฎหมายจะเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งๆ ที่ยังมีข้อสงสัยอันสมควรว่าเป็นหุ้นที่ได้มาโดยมิชอบก็จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทั้งปวงของบริษัท และหากประธานฯ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนโดยอาศัยหุ้นของตนเองซึ่งถืออยู่ในจำนวนที่ควบคุมเสียงข้างมากในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทได้และทำให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ ดังที่ได้ชี้แจงไปแล้วนั้น ย่อมถือได้ว่าประธานฯมิได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทั้งปวงของบริษัทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อคำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นทุกกลุ่มแล้ว ประธานฯ จึงมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายของประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตาม พรบ.บริษัทมหาชนฯ และข้อบังคับของบริษัทดังที่ได้เรียนชี้แจงไปแล้วในข้อ 1 ซึ่งให้อำนาจประธานในที่ประชุมในการควบคุมการประชุมผู้ถือหุ้นได้
โดยประธานฯไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้าร่วมประชุม และได้มีคำสั่งมิให้นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น และนายเสริมสิน สมะลาภาออกเสียงลงคะแนนในทุกวาระของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ เนื่องจากนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น และนายเสริมสิน สมะลาภาต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในจำนวนที่มีนัยสำคัญและปรากฏ ข้อโต้แย้งจากฝ่ายผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ว่าบุคคลทั้งสองดังกล่าวได้ร่วมกันถือหุ้นของบริษัทโดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการครอบงำกิจการและมีหน้าที่ต้องทำ Tender Offer เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามประธานฯ อนุญาตให้นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น และนายเสริมสิน สมะลาภา เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทได้เนื่องจากบุคคลทั้งสองดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทและข้อโต้แย้งของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ดังกล่าวเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสนับสนุน เนื่องจากนายสุทธิชัย แซ่หยุ่นและนายเสริมสิน สมะลาภา ถือหุ้นของบริษัทเป็นจำนวนรวมกันไม่ถึงจุดที่จะมีหน้าที่ต้องทำ Tender Offer แต่อย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ประธานฯ จะมีข้อสงสัยอันสมควรดังเช่นในกรณีของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่
นอกจากนี้ ประธานฯ ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาออกเสียงลงมติในวาระแต่งตั้งกรรมการของบริษัท เนื่องจากวาระแต่งตั้งกรรมการของบริษัทเป็นระเบียบวาระที่มีความสำคัญและส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทได้และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทั้งสองกลุ่มและมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในบริษัทที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้อันเป็นเหตุที่ไม่พึงประสงค์จะให้เกิดขึ้น ในขณะที่ระเบียบวาระอื่นๆ เป็นเพียงเรื่องการบริหารจัดการกิจการทั่วไปของบริษัทซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นทั้งสองกลุ่มแต่อย่างใด
ดังนั้น ประธานฯ จึงอนุญาตให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอื่นๆ ทั้งหมดนอกจากวาระแต่งตั้งกรรมการไปได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่และผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมมีความชัดเจนและเป็นที่ยุติแล้วบริษัทก็สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิที่แท้จริงโดยชอบด้วยกฎหมายได้เข้าร่วมประชุมและใช้สิทธิออกเสียงลงมติในกิจการต่างๆ ของบริษัทได้ตามเจตนารมณ์ของตนเอง แต่ในระหว่างนี้ซึ่งข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติบริษัทจะไม่จัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาลงมติอนุมัติการดำเนินการในเรื่องใดๆที่มีนัยสำคัญอันอาจก่อให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์หรืออาจกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งประธานฯ เชื่อโดยสุจริตว่ามาตรการทั้งหมดที่นำมาใช้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทั้งปวงของบริษัทในระหว่างที่ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุตินั้นเป็นอำนาจตามกฎหมายของประธานฯ ที่สามารถกระทำไปได้โดยชอบและเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมและสมควรแก่พฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมิได้เกินเลยหรือสร้างความไม่เป็นธรรมหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใด อีกทั้งการให้งดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะทำ Tender Offer สามารถลดสัดส่วนการถือหุ้นลงได้ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องงดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทในส่วนของหุ้นที่จะต้องลดสัดส่วนลง
ประธานฯ เห็นว่าระเบียบวาระพิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทนั้น เข้าข่ายเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญซึ่งมิใช่การบริหารจัดการกิจการทั่วไปของบริษัท จึงยังไม่ควรอนุญาตให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวไปในทางใดทางหนึ่ง แต่ประธานฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหากไม่อนุญาตให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ พิจารณาระเบียบวาระนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทได้เนื่องจากประธานฯ มิได้มีการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการและฝ่ายจัดการมาก่อนว่าจะใช้อำนาจของประธานฯ งดเว้นการพิจารณาวาระต่างๆ ที่มีนัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ข้างต้น ประธานฯ จึงไม่ทราบว่าบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนเพื่อการใดๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้หรือไม่
ดังนั้น ประธานฯ จึงจำเป็นจะต้องอนุญาตให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ พิจารณาอนุมัติวาระการออกและเสนอขายหุ้นกู้ไปได้ อย่างไรก็ตามภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประธานฯ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการของบริษัทเป็นการเร่งด่วนในวันที่ 30 เม.ย.58 เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ที่ประธานฯ ได้ดำเนินการไปในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ ที่ผ่านมาให้คณะกรรมการได้รับทราบ รวมถึงขอให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อลงมติว่าหากบริษัทมิได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนเพื่อการใดๆ เป็นการเร่งด่วนในช่วงระยะอันใกล้นี้
คณะกรรมการจะไม่ใช้อำนาจในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวตามที่ได้รับมอบหมายมาจากที่ประชุมสามัญผู้ถือ หุ้นฯ โดยหากบริษัทมีความจำเป็นในการระดมทุนเพื่อใช้ในการใดๆ โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้ คณะกรรมการจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวอีกครั้งภายหลังจากที่เรื่องทั้งหมดข้างต้นมีความชัดเจนแล้ว ซึ่งฝ่ายจัดการของบริษัทได้ชี้แจงให้ทราบว่าการนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ ให้พิจารณาอนุมัติออกและเสนอขายหุ้นกู้นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองสำหรับแผนธุรกิจของบริษัทในระยะยาวเท่านั้น
ดังนั้น คณะกรรมการของบริษัทจึงมีมติเป็นเอกฉันท์จะไม่ใช้อำนาจในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวตามที่ประธานฯ เสนอ