BANPU แจ้งผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/58 มีกำไรสุทธิ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากกำไรสุทธิ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1/57 โดยมีรายได้จากการขาย 689 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 831 ล้านดอลลาร์สหรัฐในงวดปีก่อน หรือลดลง 17% ส่วนใหญ่เป็นผลจากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินที่ลดลง ตามราคาตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง โดยในงวดไตรมาสนี้มีปริมาณขายถ่านหิน 10.77 ล้านตัน ลดลง 2% จาก 10.93 ล้านตันในงวดปีก่อน ตามปริมาณขายที่ลดลงของเหมืองในออสเตรเลีย ขณะที่ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ 57.52 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตามในไตรมาส 1/58 บริษัทมีขาดทุนสุทธิจากอนุพันธ์ทางการเงิน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงมีขาดทุนสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากค่าเงินเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
BANPU ระบุอีกว่าในไตรมาส 1/58 นี้ธุรกิจหลักในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ยังคงรายงานผลการดำเนินงานที่ดีและยังดำเนินการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่ราคาถ่านหินยังไม่เอื้ออำนวย ธุรกิจไฟฟ้าสามารถสร้างฐานกำไรที่สำคัญต่อผลประกอบการรวม
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ BANPU กล่าวว่า มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมต้นทุนของเหมืองในประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซียที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในไตรมาส 1/58 ต้นทุนเฉลี่ยต่อตันของเหมืองในประเทศออสเตรเลียลดลง 6.73 เหรียญออสเตรเลีย (หรือประมาณ 172.83 บาท โดย 1 เหรียญออสเตรเลีย เทียบเท่า 25.68 บาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการผลิตถ่านหินในไตรมาสนี้ทำได้ดีกว่าแผนที่วางไว้ และผลิตได้มากกว่าปีก่อน
ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยต่อตันของเหมืองในประเทศอินโดนีเซียลดลง 6.38 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 208.31 บาท โดย 1 เหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 32.65 บาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดอัตราส่วนการขุดขนดินต่อถ่านหิน 1 ตัน (Stripping Ratio) จากเดิม 10.2 เท่า เป็น 8.8 เท่า และการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง
"ปัจจุบันนี้ ธุรกิจถ่านหินของบ้านปูฯ มีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าคู่แข่งทั้งในด้านแหล่งทรัพยากรที่หลากหลายและระบบซัพพลายเชนที่กว้างขวางครอบคลุมหลายตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราผนึกกำลังด้านการตลาด และใช้กลยุทธ์การผสมถ่านหินจากอินโดนีเซียและออสเตรเลียเพื่อรุกตลาดส่งออกระดับพรีเมี่ยม เราพร้อมเสมอที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายต่างๆ และโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งเป้าที่การบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพในภาวะที่ราคาถ่านหินผันผวน และยกเครื่องประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินงานในทุกด้าน เพื่อพร้อมสำหรับการสร้างสัดส่วนกำไรให้ได้มากที่สุดทันทีที่ราคาถ่านหินดีดตัวขึ้น"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า ด้านธุรกิจไฟฟ้า ทุกโครงการเดินหน้าไปตามแผน โครงการโรงไฟฟ้าหงสาจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมิ.ย.นี้ และในไตรมาส 1/58 ธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทในจีน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ก็สร้างผลกำไรถึง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 457 ล้านบาท โดยในระยะเวลาอีก 2 ปีนับจากนี้ หรือในปี 60 เป็นต้นไป BANPU จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนที่ถือครองในประเทศไทย จีน และ ลาว รวมทั้งสิ้นกว่า 2,750 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง