การลงทุนดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการของ บริษัท เชาว์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (CI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CHOW ถือหุ้นอยู่ 76.67% โดยถือผ่านบริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด(CE)จะเป็นผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์ พร้อมกันนี้คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติให้บริษัท พรีเมียร์ โซลูชั่น ฟิลิปปินส์ จำกัด (PSPH) ซึ่ง CHOW ถือหุ้นอยู่ 76.67% ผ่านทาง CE เป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวให้แก่ CI
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะตั้งอยู่ใน Botola Zambales ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีใบอนุญาตขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ออกโดย Energy Regulatory Commission(ERC) ที่ราคา 8.69 เปโซ/หน่วย เป็นเวลา 25 ปี จากวันเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 1/59
ทั้งนี้ CI จะทยอยชำระเงินเป็นรายงวดตามสัญญาการพัฒนาระหว่างไตรมาส 2/58 และคาดว่าจะชำระเงินครบทั้งหมดภายในไตรมาส 1/59 สำหรับแหล่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1,500 ล้านบาท จะมาจากเงินกู้โครงการ(Project Finance) 75% หรือราว 1,125 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 25% มาจากส่วนทุน (Equity Finance) หรือคิดเป็นมูลค่า 375 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงิน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพและกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจอื่น รวมทั้งกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ และเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว
นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร CHOW กล่าวว่า การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่สองต่อจากประเทศญี่ปุ่นเพราะเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างชัดเจน ทั้งจากการสนับสนุนของรัฐบาล และการส่งเสริมการลงทุนทางด้านนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ประกอบกับเราได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนในตลาดนี้มาพอสมควร ทั้งด้านพันธมิตร ทีมงาน และบุคลากรต่างๆ จึงทำให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
"การลงทุนด้านพลังงานทดแทนในฟิลิปปินส์ บริษัทฯ ได้ศึกษาแผนการลงทุนไว้ในพลังงานทดแทนหลายประเภท คาดว่าจะเห็นรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจนได้ในเร็วๆ นี้ ควบคู่กับการขยายการลงทุนในญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดเดิม เนื่องจากตลาดยังมีศักยภาพในการเติบโต "นายอนาวิล กล่าว
ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่นใน 3 รูปแบบ คือลงทุนด้วยตัวเองผ่านบริษัทย่อย โดยเริ่มเฟสแรกที่ขนาด 18 เมกะวัตต์ดั ปัจจุบันจ่ายไฟในเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 7 เมกะวัตต์ที่เหลืออีกกว่า 10 เมกะวัตต์คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟได้ภายในปีนี้ ส่วนรูปแบบที่สองพัฒนาโครงการเพื่อขายให้กับพันธมิตร ขณะนี้ได้พัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้น 87 เมกะวัตต์ และลงทุนร่วมกันพันธมิตรจำนวน 40 เมกะวัตต์ และในปีนี้มีนโยบายจะขยายการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนด้วยตัวเองในเฟส 2 หลังจากที่เฟสแรกเริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟแล้ว