GPSC แจ้งความคืบหน้าโครงการต่างๆที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยในส่วนของบริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด (IRPC CP) นั้น ปัจจุบันโครงการระยะที่ 1 อยู่ระหว่างการทดสอบ Reliability Test ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ ขนาด 40 เมกะวัตต์ เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันสูง ขนาด 70 ตัน/ชั่วโมง และเครื่องผลิตไอน้ำ ขนาด 100 ตัน/ชั่วโมงนั้น จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.58 ส่วนระยะที่ 2 มีความคืบหน้าโครงการ 47.86% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงกลางปี 60
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% นั้น มีความคืบหน้าโครงการ 84% โดยในส่วนของการก่อสร้างระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และสถานีมาตรวัดก๊าซธรรมชาติ ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว และคาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงกลางปี 59
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) ที่ถือหุ้นอยู่ 25% นั้น ปัจจุบันโครงการ BIC 2 มีความคืบหน้า 15.67% และอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน โดยคาดว่า BIC2 จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงกลางปี 60
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในลาว ที่ถือหุ้นอยู่ 25% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 62 ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 ในลาว ที่ถือหุ้น 40% ปัจจุบันมีความคืบหน้าโครงการแล้ว 29% ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในญี่ปุ่น ปัจจุบันกำลังดำเนินการเจรจาสัญญาเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง รวมทั้งสัญญากับผู้รับเหมาหลัก โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 60
ขณะที่โครงการโรงผลิตสาธารณูปการระยอง แห่งที่ 4 (CUP-4) ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 70 ตัน/ชั่วโมงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาการรับซื้อไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในรูปแบบ Non-Firm
GPSC ระบุอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/58 มีกำไรสุทธิ 566 ล้านบาท เพิ่มขั้น 19.4% จากไตรมาส 2 เป็นผลจากได้รับเงินปันผลจาก RPCL และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของ IRPC CP ลดลง 33 ล้านบาท ประกอบกับในไตรมาส 2 มีค่าใช้จ่ายทางบัญชี ที่เกิดจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน (ESOP) จำนวน 79 ล้านบาท
ขณะที่ในไตรมาสนี้โรงไฟฟ้าศรีราชาหยุดซ่อมบำรุงตามแผนประมาณ 10 วัน และลูกค้าของโรงผลิตสาธารณูปการระยองหยุดซ่อมบำรุง ส่งผลให้รายได้และค่าใช้จ่ายในการผลิตของบริษัทลดลงตามปริมาณการขายที่ลดลง