ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ผู้จัดการมรดก และทายาทผู้ถือหุ้นรายหนึ่งยื่นฟ้องบริษัท พร้อมกับบุคคลและนิติบุคคลอื่นรวม 9 ราย ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค.52 ให้ร่วมรับผิดในฐานละเมิด เรียกคืนหุ้นและค่าเสียหายจากการที่อดีตพนักงานของบริษัท ทุจริตต่อผู้ถือหุ้น (ปลอมแปลงใบหุ้น) โดยมีจำนวนทุนทรัพย์ประมาณ 223 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ย.54 ศาลแพ่ง (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาว่าอดีตพนักงานของบริษัท กระทำละเมิดต่อโจทก์และให้คืนหุ้นของบริษัท จำนวน 672,000 หุ้นให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาหุ้นเป็นเงิน 164,633,800 บาท และดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมทั้งเงินปันผลที่ยังขาดอยู่ และให้บริษัทในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบกับการกระทำของอดีตพนักงานคนนี้ด้วย ซึ่งบริษัทได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ทั้งหมดแล้ว และได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.57 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแก้เป็นให้ อดีตพนักงานคนดังกล่าว บริษัท และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันคืนหุ้นจำนวน 672,000 หุ้นให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาหุ้นบริษัท ตามราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย ณ วันที่ใช้ราคา ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าราคาหุ้นละ 314.38 บาท พร้อมทั้งเงินปันผลที่ยังขาดอยู่ ซึ่งบริษัทก็ได้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา ก่อนที่จะมีคำพิพากษาออกมาเมื่อวานนี้