ขณะที่บริษัทกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 เพื่ออนุมัติการเพิ่มทุนและการจัดสรรหุ้นสามัญที่ออกใหม่ในวันที่ 8 เม.ย.59 พร้อมกันนี้คณะกรรมการบริษัทยังจะเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น อนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่มีนัยสำคัญ คือ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่) ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz โดยบริษัท ทรู มูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย
ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า TUC จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz เมื่อได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาต ที่กำหนดในหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งออกโดยกสทช.ภายในเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนก.พ.นี้
ขณะที่ TUC เป็นผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตย่าน 900 MHz ด้วยราคาประมูล 76,298 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในเฟสแรกเพิ่มเติม สำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมภายใต้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ ย่าน 900 MHz อีกราว 32,631 ล้านบาท และเมื่อรวมกับราคาประมูลแล้ว มีมูลค่าของรายการคิดเป็นเงินประมาณ 108,929 ล้านบาท
ในส่วนของเงินค่าประมูลนั้น กสทช.กำหนดให้ TUC แบ่งชำระเป็น 4 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ชำระเงินประมูลคลื่นความถี่เป็นเงิน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร เพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือภายใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะประมูล ,งวดที่ 2 จำนวน 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินในงวดที่ 3 และ 4 ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต ,งวดที่ 3 จำนวน 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกัน จากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินงวดที่ 4 ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่ 4 จำนวน 60,218 ล้านบาท ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
สำหรับแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้เพื่อชำระเงินค่าใบอนุญาต และการลงทุนขยายโครงข่ายดังกล่าวจะมาจากการเพิ่มทุน เงินสดจากการดำเนินงาน สินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ โดยไม่มีเงื่อนไขที่กรคะทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้น
"การระดมทุนที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายกลุ่มทรู ในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (Net Debt-to-EBITDA Ratio) ให้ได้ที่ระดับไม่เกิน 2 ต่อ 1 ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งยังจะคงอันดับเครดิตเรตติ้งที่เป็นระดับการลงทุน หรือ Investment Grade"นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ของ TRUE กล่าว
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มทรูอยู่ในสถานะที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ด้านโมบายล์ บรอดแบนด์ จากการที่มีคลื่นทั้ง 900 , 1800 , 2100 และ 850 MHz ทำให้เชื่อว่าการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินผนวกกับความมุ่งมั่นที่จะสร้างโครงข่ายที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะเสริมสร้างให้บริษัทมีศักยภาพในการขยายธุรกิจรองรับโอกาสที่มีมูลค่าสูง จากการเติบโตของธุรกิจโมบายล์ บรอดแบนด์และวิวัฒนาการของยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (Internet of Things) อันจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ลูกค้า และผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตเป็นบริษัทไทยที่มีบทบาทในระดับภูมิภาคต่อไป