ADVANC คาดปี 59 รายได้ทรงตัว ผลกระทบปิด 2G กด EBITDA Margin ลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 4, 2016 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADAVANC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย) ในปี 59 จะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ เป็นผลมาจากการปิดบริการโครงข่าย 2G แต่ชดเชยด้วยการเติบโตจากรายได้ 3G และ 4G และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์จะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ โดยมีอัตรากาไร 3-4% โดยที่ต้นทุนแคมเปญการแลกเครื่องโทรศัพท์จะบันทึกในค่าใช้จ่ายการตลาด

อัตรา EBITDA margin จากการปิดบริการโครงข่าย 2G และต้นทุนจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับทีโอที คาดว่าอัตรา EBITDA margin รวมจะอยู่ประมาณ 37-38% จากปี 58 อยู่ที่ระดับ 45.6%

ส่วนเงินลงทุนโครงข่ายคาดว่าเงินลงทุนโครงข่ายที่เป็นเงินสด จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท สำหรับการวางโครงข่าย 4G การขยายโครงข่าย 3G การขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การขยายความครอบคลุมของไฟเบอร์สำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการขยายร้านเอไอเอสช็อป

ด้านค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าค่าเสื่อมราคาโครงข่ายลดลง 25% จากการตัดค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ 2G ครบเมื่อสิ้นสุดสัญญาร่วมการงานเมื่อเดือน ก.ย.58 ค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตคลื่นความถี่รวมทั้งสิ้น 3,300 ล้านบาท สำหรับใบอนุญาต 1800MHz และ 2100MHz เงินปันผลยังคงนโนบายจ่ายปันผล 100% ของกำไรสุทธิ

ADVANC หรือ เอไอเอส ชี้แจงว่า ในการประมูลคลื่น 900MHz ปลายปีที่ผ่านมา เอไอเอสตัดสินใจยุติการเคาะราคาประมูลต่อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นราคาที่ไม่เหมาะสมและไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท ซึ่งผลกระทบระยะสั้นจะทาให้บริการโครงข่าย 2G อาจต้องปิดลงในปลายเดือน มี.ค.หลังจากนั้น บริษัทคาดว่าจะสามารถให้บริการโครงข่าย 2G ต่อได้ จากการทำสัญญาโรมมิ่งกับผู้ให้บริการรายอื่นที่ยังให้บริการโครงข่าย 2G อยู่

นอกจากนี้ ในต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เอไอเอสได้เริ่มแคมเปญอุดหนุนเครื่องมือถือให้ลูกค้าที่ยังคงเหลืออยู่ 12 ล้านเลขหมาย เพื่อให้ไปใช้บริการ 3G โดยจะดำเนินการต่อเนื่องคู่ขนานไปกับการโรมมิ่ง โดยบริษัทคาดว่าต้นทุนรวมสำหรับการอุดหนุนค่าเครื่องมือถือและการโรมมิ่งจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทได้ประมาณการถึงผลกระทบจากความเป็นไปได้ในการสูญเสียลูกค้า 2G และรายได้บางส่วนจากการปิดโครงข่าย 2G ซึ่งอาจทาให้ลูกค้าบางส่วนไม่สามารถใช้บริการและย้ายไปใช้งานกับผู้ให้บริการรายอื่น เพื่อเป็นการลดทอนผลกระทบดังกล่าว บริษัทได้เพิ่มงบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ในงบลงทุนรวมของปีนี้เพื่อขยายโครงข่าย 3G-2.1GHz เพิ่มให้ครอบคลุมเทียบเท่ากับโครงข่าย 900MHz โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด

การเปิดให้บริการ 4G และขยายบริการ 3G จะช่วยเพิ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เอไอเอสได้เปิดให้บริการ 4G บนคลื่น 1800MHz ใน 42 จังหวัด และจะขยายความครอบคลุมในเขตเมืองทั่วทั้ง 77 จังหวัดภายในกลางปีนี้ และขยายต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีเพื่อให้ครอบคลุม 50% ของประชากร ซึ่งบริการนี้จะส่งผลให้ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าดีขึ้นโดยทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับบริการ 3G เพียงอย่างเดียวในปีที่แล้ว ด้วยแถบความกว้างช่วงคลื่น 15MHz นอกจากนี้ ด้วยแพ็กเกจ 4G ที่ให้ปริมาณอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อเลขหมายของลูกค้าจะเพิ่มขึ้นสองเท่า ในขณะที่อัตราการใช้งานมือถือที่รองรับ 4G จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในปีนี้ ความต้องการใช้บริการ 3G จะยังคงมีสูง เนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนราคาถูกมากขึ้น และได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนค่าเครื่องมือถือจากการปิดบริการ 2G ทาให้บริษัทยังคงเน้นการลงทุนเพื่อขยายโครงข่าย 3G เพื่อเพิ่มความจุโครงข่าย และขยายความครอบคลุมให้หนาแน่น ต่อเนื่องจากความครอบคลุมปัจจุบันที่ 98% ของประชากร โดยงบลงทุนทั้งหมดจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือของโครงข่าย 3G/4G เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาด

ขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมเขตเมืองใน 24 จังหวัด พร้อมให้บริการ 6.5 ล้านครัวเรือนเอไอเอสได้กาหนดกลยุทธ์ในการทาธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใหม่ โดยจะทาการตลาดที่เข้มข้นเพื่อแข่งขันและชนะใจลูกค้าในตลาดนี้ บริษัทตั้งงบเงินลงทุน 7,000 ล้านบาท ในปีนี้เพื่อขยายโครงขยายให้ครอบคลุมเขตเมืองใน 24 จังหวัด ซึ่งสามารถให้บริการลูกค้าได้สูงสุดถึง 6.5 ล้านครัวเรือน และตั้งเป้าหมายการได้ส่วนแบ่งการตลาดที่มีนัยสาคัญในสามปีข้างหน้า ซึ่งสนับสนุนด้วยงบลงทุนและจำนวนพนักงานที่มากขึ้น

ด้านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับทีโอที โดยภายใต้การเจรจากับทีโอที การร่วมมือประกอบไปด้วยการใช้ประโยชน์จากคลื่น 2100MHz รวมถึงการใช้เสาโทรคมนาคมที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน และอุปกรณ์ที่ส่งมอบภายใต้สัมปทาน การเป็นพันธมิตรกับทีโอทีจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวต่อบริษัท เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันและการบริหารต้นทุนที่ดีในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการสรุปเพื่อร่างสัญญา บริษัทของดเว้นการเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างการทำธุรกิจจนกว่าสัญญาจะเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รวมค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในประมาณการปีนี้แล้ว

เอไอเอส ระบุว่า การปิดโครงช่าย 2G จะทำให้ต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ลดลงไปใกล้เคียงร้อยละ 5.25 (ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าใช้จ่ายเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาจ่ายให้แก่ กสทช.) อย่างไรก็ตาม อัตรากำไร EBITDA รวมจะได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงในระยะสั้นจากการสูญเสียลูกค้า 2G บางส่วน รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการอุดหนุนค่าเครื่องมือถือ และค่าใช้จ่ายโรมมิ่งโครงข่าย 2G เพื่อให้บริการลูกค้า 2G ที่เหลืออยู่ รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับทีโอที

อย่างไรก็ตาม จากการที่เอไอเอสตัดสินใจไม่เคาะราคาประมูลคลื่น 900MHz ต่อด้วยราคาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ยังคงสถานะความแข็งแกร่งทางการเงิน และความยืดหยุ่นในการลงทุนเพื่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นในระยะยาว และทำให้ยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สัดส่วน 100% ไว้ได้ โดยมีการจ่ายเงินปันผลปีละสองครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ