SUPER แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อนุมัติให้ยกเลิกการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ GENCO เนื่องจากเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการลงทุนใน GENCO ยังไม่สอดคล้องกับแผนงานโดยรวมของกลุ่มบริษัท หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทก่อนหน้านี้อนุมัติให้บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้นสามัญของ GENCO จากการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ GENCO ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 350,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ในราคา 2.00 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 700,000,000 บาท คิดเป็น 16.296% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการเพิ่มทุนของ GENCO เพื่อรองรับการขยายงานในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท ยังมีมติมติยกเลิกการจัดสรรและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ PP ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ 19 ก.พ.58 ที่มติอนุมัติให้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวนไม่เกิน 2,000,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ให้แก่ PP ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.50 บาท โดยการยกเลิกดังกล่าวเนื่องจากการเจรจาเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ กับนักลงทุนยังไม่สามารถหาข้อยุติอันจะก่อให้เกินผลประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทได้
SUPER ยังแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการในการเข้าลงทุนในบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์มรวม 71.8 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนทั้งซื้อหุ้นและการลงทุนไม่เกิน 4.64 พันล้านบาท โดยการลงทุนดังกล่าวจะดำเนินการโดยบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้แก่ การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญบริษัท โซลคิด โซล่าร์ จำกัด (SOLKIT) จำนวน 49% โดยมีสิทธิในการลงมติและรับเงินปันผลในสัดส่วน 99.99%
ปัจจุบัน SOLKIT ได้รับการโอนสิทธิประโยชน์ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้วจำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งสูงสุดรวม 6 เมกะวัตต์ จากบริษัท เอ็น.พี.เอส.สตาร์กรุ๊ป จำกัด โดยมีมูลค่าการเข้าทำรายการทั้งหมดไม่เกิน 365.41 ล้านบาท ประกอบด้วย มูลค่าการซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 16.41 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการซึ่งไม่รวมค่าที่ดิน จำนวน 349 ล้านบาท
สำหรับโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในจ.สระแก้ว ขณะที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.58 แต่ได้ยื่นหนังสือขอขยาย COD ไปที่กฟภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ขณะที่โครงการมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 95%
การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญใน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท นอร์ธ อีสต์ ฟิวเจอร์ อีเนอร์จี จำกัด (NEFE) และบริษัท เอส ทู พี อีเนอร์จี จำกัด (S2P) รวมเรียกว่า NEFE & S2P ในสัดส่วน 49% โดยมีสิทธิในการลงมติและรัรบเงินปันผลในสัดส่วน 51% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด
ปัจจุบัน NEFE & S2P ได้รับการโอนสิทธิประโยชน์ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ. แล้วจำนวนรวม 7 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งสูงสุดรวม 42 เมกะวัตต์ จากบริษัท เอ็น.พี.เอส.สตาร์กรุ๊ป จำกัด โดยมีมูลค่าการเข้าทำรายการทั้งหมดไม่เกิน 2,728.60 ล้านบาท ประกอบด้วย มูลค่าการซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 320.60 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการซึ่งไม่รวมค่าที่ดิน จำนวน 2,408 ล้านบาท
สำหรับโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในจ.สระแก้ว ขณะที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้ COD ภายในวันที่ 31 ธ.ค.58 แต่ได้ยื่นหนังสือขอขยาย COD ไปที่กฟภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ขณะที่โครงการมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 95%
การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิใน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอ็กซ์เอ 4 จำกัด ,บริษัท ดับบลิวเอ็กซ์เอ 5 จำกัด ,บริษัท ดับบลิวเอ็กซ์เอ 6 จำกัด และบริษัท ดับบลิวเอ็กซ์เอ 7 จำกัด รวมเรียกว่า "WXA 4567" ในสัดส่วน 49% ของทุนจดทะเบียน โดยมีสิทธิในการลงมติและรับเงินปันผลในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด
ปัจจุบัน WXA 4567 ได้รับการโอนสิทธิประโยชน์ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. แล้วจำนวนรวม 4 โคงรการ กำลังการผลิตติดตั้งสูงสุดรวม 23.80 เมกะวัตต์ จากบริษัท เวิลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เอเชีย จำกัด โดยมีมูลค่าการเข้าทำรายการทั้งหมดไม่เกิน 1,545.62 ล้านบาท ประกอบด้วย มูลค่าการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ จำนวน 121.38 ล้านบาท ,มูลค่าการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ ซึ่งไม่รวมค่าที่ดิน จำนวน 1,399.96 ล้านบาท และมูลค่าการซื้อหุ้นตามสัญญาเพิ่มเติมให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ใช้สิทธิซื้อคืนโครงการ จำนว น24.28 ล้านบาท สำหรับโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้ COD ภายในวันที่ 31 ธ.ค.58 แต่ได้ยื่นหนังสือขอขยาย COD ไปที่กฟภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ขณะที่โครงการมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%
นอกจากนี้ SUPER ยังแจ้งด้วยว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.59 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทเอส ที เอฟอี โซล่า (STFES) ซึ่งเป็นย่อยของบริษัท จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิต 8.0 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จ.เพชรบุรี ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ให้กับกฟภ. เป็นผลให้ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทย่อยของ SUPER ทุกโครงการ ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ให้กับกฟภ.และกฟผ.รวมแล้ว 27 โครงการ กำลังการผลิตรวม 196.45 เมกกะวัตต์ คงเหลือรอ COD จำนวน 47 โครงการ กำลังการผลิตรวม 284.65 เมกกะวัตต์
ทั้งนี้ ตามแผนงานของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทส่วนที่เหลือจะทยอย COD ในเดือนกพ.พ.59 และคาดว่าจะ COD จนครบถ้วนทุกโครงการภายในเดือนมี.ค.59