IEC แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ อนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนโดยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้จำหน่ายออก หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.77 พันล้านบาท จากเดิมที่ 2.03 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 7.36 หมื่นล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.01 บาท ซึ่งจะจัดสรรจำนวน 3.29 หมื่นล้านหุ้น ให้ PP จำนวน 16 ราย ที่ราคาหุ้นละ 0.021 บาท แบ่งชำระเป็น 4 งวดภายในไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าว โดยกำหนด Silent Period เป็นเวลา 1 ปี
ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 4.07 หมื่นล้านหุ้น รองรับวอร์แรนต์ IEC-W2 ที่จะออกจำนวนไม่เกิน 4.07 หมื่นล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยมีอายุ 3 ปี มีอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยมีราคาแปลงสภาพเป็นกำหนดราคาตายตัวในแต่ละปี โดยภายในปีที่ 1 อยู่ที่ 0.025 บาท/หุ้น, ภายในปีที่ 2 อยู่ที่ 0.035 บาท/หุ้น และภายในปีที่ 3 อยู่ที่ 0.045 บาท/หุ้น
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และมีฐานเงินทุนเพิ่มขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างทุน และฐานะทางการเงินของบริษัทเพื่อรองรับการขยายการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ขณะที่บริษัทมีโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทในช่วงปี 58-59 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ งบประมาณค้างรายการจ่ายผู้ผลิตและค่าติดตั้งจากโครงการ Waste Plastic Recycling (Rayong 1) ,โครงการ Waste Plastic Recycling ณ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (Hat Yai 2) , โครงการ Khampangpet Biogas Power Plant (KPP) ,โครงการประยุกต์เทคโนโลยีและสร้างตัวแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากขยะชุมชน (Green 2) และโครงการให้เช่าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าของ บริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด (Green 3)
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อนุมัติให้บริษัท ไออีซี กรีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (IECG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยลงทุนค่าเครื่องจักรส่วนหน้า (Front-end System) เป็นจำนวน 73.9 ล้านบาท โดยให้บริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด เช่าในอัตราค่าเช่าเดือนละ 1.45 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 6 ปี โดย IECG คาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนโครงการ (IRR) ที่ 17.06% และมีระยะคืนทุน ประมาณ 6 ปี
ระบบส่วนหน้าดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องจักรที่สำคัญคือ Shredder Bio-drying plant Rotary Dryer Moving Floor และ Screw Feeder เป็นต้น ซึ่งระบบส่วนหน้าจะถูกนำมาติดตั้งที่โรงไฟฟ้า ไออีซี สระแก้ว 1 ณ ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เพื่อแปรรูปเชื้อเพลิงให้มีคุณสมบัติทั้งขนาดและความชื้นที่เหมาะสมต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเริ่มติดตั้งระบบดังกล่าวประมาณเดือน มิ.ย. และจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค.59
คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติเพิ่มงบประมาณโครงการผลิตเม็ดพลาสติกจากพลาสติกปนเปื้อน จ.ระยอง จากที่เคยอนุมัติครั้งต้นเมื่อวันที่ 2 เม.ย.58 จำนวน 663 ล้านบาท โดยให้เพิ่มงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าวอีกจำนวน 88 ล้านบาทซึ่งรวมเป็นงบประมาณสุทธิ 751 ล้านบาท โดยบริษัทจะเพิ่มสายการผลิตจากเดิมที่ผลิตได้เพียงแต่เม็ดพลาสติก PE ผสม PP ที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อนเท่านั้นมาเป็นเม็ดพลาสติก PE ล้วนที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อน ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มระบบการคัดแยก (Sorting System) โดยคาดว่าจะเริ่มลงทุนในไตรมาส 3 และจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 เช่นกัน
การเพิ่มงบประมาณ 88 ล้านบาทนั้นทำให้สามารถขายเม็ดพลาสติก PE ล้วนที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อนได้ และจากการที่เม็ดพลาสติก PE ล้วนที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อนมีราคาสูงกว่าเม็ดพลาสติก PE ผสม PP ที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อนถึง 20% จึงทำให้ผลตอบแทนทางด้านการลงทุนของการผลิตเม็ดพลาสติก PE ที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อน มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 20.52% และคืนทุน 3.97 ปี
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงให้มีการผลิตเม็ดพลาสติก PE ล้วนที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อน คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 แต่ในปัจจุบันบริษัทยังคงที่จะผลิตเม็ดพลาสติก PE ผสม PP ที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อนไปจนกว่าระบบ Sorting system จะติดตั้งแล้วเสร็จ จึงจะทำการผลิตเม็ดพลาสติก PE ล้วนที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อน ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเม็ดพลาสติก PE ผสม PP ที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อนได้ภายในเดือน มี.ค.59 ซึ่งในปัจจุบันกำลังรอใบอนุญาต รง.4 อยู่ หลังจากที่ติดตั้งระบบ Sorting system เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายในไตรมาส 3 บริษัทก็จะมาทำการผลิตเม็ดพลาสติก PE ล้วนที่ทำมาจากพลาสติกปนเปื้อนต่อไป